ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีบุตร ๖ คน คือ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี

  • ลลิตา พนมยงค์ วัย ๗๗ ปี พิการทางสมองมาตั้งแต่เล็ก ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของพี่น้อง
  • ปาล พนมยงค์ จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียชีวิตเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว
  • สุดา พนมยงค์ วัย ๗๓ ปี จบปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยปารีส ซอร์บอนน์
  • ศุขปรีดา พนมยงค์ วัย ๗๒ ปี จบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น นครกวางโจว
  • ดุษฎี พนมยงค์ (บุญทัศนกุล) วัย ๖๘ ปี จบปริญญาโทด้านดนตรีศาสตร์ (ขับร้องและเปียโน) สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง
  • วาณี พนมยงค์ (สายประดิษฐ์) วัย ๖๖ ปี จบปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีจีน มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ กรุงปักกิ่ง

หลังการจากไปของท่านผู้หญิงพูนศุขได้ไม่นาน สารคดีมีโอกาสเดินทางไปบ้านพูนศุข ในซอยสวนพลู ถนนสาทร เป็นบ้าน ๒ ชั้น และมีหอพักเล็ก ๆ อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน

บ้านหลังนี้คุณแม่ซื้อจากกองมรดกของคุณยายเมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน เพราะตอนนั้นพี่ ๆ น้อง ๆ ของคุณแม่เห็นว่าคุณแม่ไม่มีบ้านพักในกรุงเทพฯ เลย และยังสร้างหอพักเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยตั้งชื่อว่า “ลลิตา” ตามชื่อลูกสาวคนโต พอสร้างหอพักได้เกือบ ๑๐ ปี คุณพ่อก็ตาย คุณแม่จึงย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยที่บ้านหลังนี้เป็นการถาวร

ดุษฎีพาเราชมบ้านเก่าที่ท่านผู้หญิงใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลา ๒๐ กว่าปี ที่สะดุดตาคือบันไดวนกลางห้องที่ท่านใช้เดินขึ้นลง

คุณแม่นอนอยู่ข้างบนตลอด นอนเตียงไม้แคบ ๆ พอท่านอายุ ๙๐ เราเห็นว่าท่านลำบากเวลาเดินขึ้นลงบันได เลยต่อเติมห้องให้ท่านลงมานอนข้างล่าง พอย้ายลงมาท่านสบายขึ้น ได้เห็นลูกหลานและใครต่อใครที่มาเรียนดนตรี

เราขออนุญาตถ่ายรูปพี่น้องทั้งสามบริเวณหน้าห้องนอนของท่านผู้หญิง ก่อนจะเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ลูกสาวของอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรี และลูกสาวอดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

ทั้งสามท่านมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้ง ได้รู้เห็นและใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่มาโดยตลอด

ลูกสาวทั้งสามติดตามพ่อแม่ลี้ภัยทางการเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนและฝรั่งเศสร่วม ๒๐ ปี

วันนี้สุภาพสตรีทั้งสามท่านยินดีเล่าเรื่องราวของคุณแม่ให้คนรุ่นหลังได้รับฟัง ว่าเหตุใด

พูนศุข พนมยงค์ จึงไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น

คุณแม่มีวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างไรครับ

ดุษฎี : คุณพ่อกับคุณแม่มีลูก ๓ รุ่น รุ่นโตคือพี่ลลิตากับพี่ปาล รุ่นกลางคือพี่สุดากับพี่ศุขปรีดา รุ่นเล็กคือพี่ (ดุษฎี) กับวาณี คุณแม่แต่งงานตอนอายุเพียง ๑๗ ปี ตอนมีลูกคนแรกอายุท่านยังไม่ถึง ๒๐ ดังนั้นกับลูกสาวคนโตเลยเหมือนพี่กับน้อง พอมีพี่ ท่านอายุได้ ๒๙ แล้ว มีวาณีตอนอายุ ๓๑ เราเป็นลูกรุ่นเล็ก ความใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่จะมีมาก

คุณแม่เป็นทุกอย่างของลูก ๆ เพราะคุณพ่อรับราชการ ทำงานเพื่อส่วนรวม มีเวลาให้ครอบครัวไม่มากนัก คุณแม่ดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกๆ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การกิน การอยู่ เวลาลูก ๆ ป่วย คุณแม่จะดูแลอย่างดีเพราะมีความรู้พื้นฐานเรื่องการแพทย์อยู่บ้าง โดยเฉพาะคนโตคือพี่ลลิตาซึ่งเป็นโรคชักตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน คุณแม่จะดูแลเป็นพิเศษ ก่อนท่านเสีย ๒ วัน ท่านไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อน ท่านพูดกับหมอว่าท่านรับประทานยา milk of magnesia และบอกว่าฉันรู้จักยานี้มา ๘๐ กว่าปีแล้ว เพราะเคยให้ยานี้กับลูกสาวคนโต ส่วนวาณี น้องสุดท้องที่มีโรคภัยรุมเร้า คุณแม่ก็ห่วงใยมากเช่นกัน แม้กระทั่งวันที่วาณีต้องไปผ่าตัดสมองที่ตึก สก โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว คุณแม่ในวัย ๙๕ ยังตามไปส่งเธอเข้าห้องผ่าตัดด้วยตนเอง คุณแม่บ่นกับพี่บ่อย ๆ ว่าสงสารณีที่ไม่สบาย เป็นหลายโรค

วาณี : ลูก ๆ ประทับใจคุณแม่ที่สุดตอนที่คุณพ่อลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ตอนนั้นคุณแม่ทำหน้าที่เป็นทั้งแม่และพ่อในเวลาเดียวกัน ลูก ๆ ไม่รู้สึกขาดความอบอุ่นเลย เวลาลูก ๆ ป่วย คุณแม่จะทำหน้าที่หมอและพยาบาล เช็ดตัว วัดปรอท ให้กินยา ทำอาหารย่อยง่ายให้รับประทาน จนกระทั่งเมื่อท่านอายุ ๙๕ แล้ว และทั้งที่ลูกทุกคนก็มีอายุไล่จาก ๗๘ จนถึง ๖๖ แต่ในสายตาของคุณแม่ ลูกทุกคนยังเป็นเด็กเสมอ ท่านยังห่วงใยและดูแลไม่ห่าง ถ้าลูกคนไหนไปงานดนตรีแล้วกลับบ้านดึก ท่านก็จะไม่ยอมนอน จะชะเง้อรอคอยด้วยความห่วงใย

ดุษฎี : คุณแม่สอนให้ลูก ๆ เดินสายกลาง ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาที่สมัยนี้เรียกว่าติดดิน เป็นลูกนายกรัฐมนตรียังไม่รู้ตัวเลย ไปโรงเรียนก็วิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไป ไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เอาข้าวไปทานที่โรงเรียน คุณแม่ไม่ให้เงินค่าขนม จำได้ว่าครั้งหนึ่งหลังสงครามโลกสิ้นสุดไม่นาน มีโอกาสนั่งเรือตามคุณพ่อคุณแม่ไปบางปะอินพร้อมกับลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตเตน ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ก็มีคนหลายคนติดตาม แต่เราไม่รู้สึกพิเศษอะไร

สุดา : คุณแม่ไม่เคยตามใจลูก ๆ ให้มีชีวิตฟุ้งเฟ้อ ท่านเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตเรียบง่าย ลูก ๆ ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นลูกของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือลูกนายกรัฐมนตรีเลย ไม่ได้มีตำรวจคอยคุ้มกันแข็งแรง ไม่มีรถนำขบวน ไม่มีพิธีรีตองมากมาย

ท่านเคยเขียนไว้ว่า เหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ท่านประทับใจมากที่สุดคือวันสันติภาพ เป็นเพราะอะไรครับ

วาณี : คุณแม่ผ่านชีวิตในยามสงครามมาแล้ว ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ต้องหนีลูกระเบิด หลบลงหลุมหลบภัย ต้องลี้ภัยจากพระนครไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนแรกอยู่ที่คุ้มขุนแผน ต่อมาไปเฝ้าและถวายการดูแลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่บางปะอิน สงครามได้ทำลายบ้านเมือง ผู้คนล้มตายจำนวนมาก หลายคนที่ท่านสนิทสนมเป็นกัลยาณมิตรอย่างเช่นคุณจำกัด พลางกูร ก็เสียสละชีวิตในระหว่างสงคราม และที่สำคัญมาก ๆ คือ สงครามและการรุกรานของญี่ปุ่นทำให้ประเทศไทยสูญเสียความเป็นเอกราชและ อธิปไตย วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นวันสันติภาพจึงเป็นวันที่คุณแม่ภูมิใจ เพราะการที่ท่านเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยทำให้ท่านมีโอกาสรับใช้ชาติ มีส่วนร่วมในการทำให้ชาติไทยได้รับการยอมรับสถานะก่อนสงคราม ได้เอกราชอธิปไตยกลับคืนมา ท่านอยากให้คนรุ่นหลังศึกษาและจดจำช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ไว้ จะได้หวงแหนและรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติให้มั่นคงตลอดไป

สุดา : ตอนเกิดสงคราม พี่อายุ ๑๒ ปี ตอนนั้นพวกเราไม่ชอบญี่ปุ่นเลย เขาไม่มีสิทธิ์ยึดครองประเทศไทย ฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด เราก็เข้าใจดีว่าเขาไม่ได้มารังแกคนไทย แต่ไม่เข้าใจว่าคุณพ่อทำอะไร จนสิ้นสุดสงคราม พี่ชายคนโตบอกว่าเราไม่ได้อยู่ในฐานะแพ้สงครามนะ เพราะมีขบวนการเสรีไทย เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาถามว่ารู้ไหมใครเป็นหัวหน้า เราไม่รู้ เขาก็บอกว่าคุณพ่อของเรานี่ละเป็นหัวหน้า คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานเป็นความลับสุดยอด คุณแม่ถอดรหัส เขียนรหัสให้คุณพ่อ คนในขบวนการเสรีไทยรักษาความลับกันสุดยอดจริง ๆ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตาย

ตอนที่คุณพ่อถูกใส่ร้ายในกรณีสวรรคต ครอบครัวได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

ดุษฎี : มีผลกระทบหลายเรื่องค่ะ คุณพ่อไม่อยู่ คุณแม่ต้องหาเลี้ยงลูก มีที่ดินที่ซื้อไว้นานแล้วแถว ๆ ทุ่งมหาเมฆ คิดจะขายเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว พอคนเห็นชื่อเจ้าของในโฉนดเป็นชื่อนายปรีดี ก็ไม่มีใครกล้าซื้อ ความกลัวมีขนาดนั้นเลย ตอนหลังมีคนรับซื้อ หนึ่งในนั้นคือคุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร เพื่อนสนิทของครอบครัวเรา
วาณี : ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีคนไปเขียนใต้รูปคุณพ่อว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” พี่โดนเพื่อนที่โรงเรียนบางคนต่อว่า แต่เพื่อนส่วนใหญ่ก็ดีกับพี่ พี่กลับบ้านก็มาร้องไห้กับคุณแม่ ลูก ๆ รู้ว่าคุณพ่อเป็นคนจิตใจดี ฆ่าใครไม่เป็นหรอก

คุณแม่เคยพูดหรือเขียนบันทึกเกี่ยวกับที่คุณพ่อถูกกล่าวหากรณีสวรรคตหรือไม่

สุดา : ตอนนั้นคุณแม่ไม่ได้พูด ท่านมาเล่าตอนหลังว่า คุณพ่อเสียใจมากที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณพ่อต้องการปกป้องราชบัลลังก์ แต่ผลก็เป็นดังที่ทราบ ๆ กันอยู่ ต่อมาช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส มีคนมาถามเรื่องนี้กับคุณพ่อ ท่านจึงบอกว่า วันหนึ่งประวัติศาสตร์จะให้คำตอบเอง แต่อาจจะต้องใช้เวลายาวนาน

ดุษฎี : คุณแม่ไม่ได้เขียนบันทึกถึงเรื่องนี้ด้วยค่ะ เพราะว่าเมื่อคุณพ่อไม่ได้ทำและไม่รู้ว่าใครทำ จึงไม่ปรักปรำใครทั้งสิ้น เป็นปมประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังต้องไปค้นกันเอง

คุณแม่รู้สึกอย่างไรกับคำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต

สุดา : จริง ๆ แล้วหนังสือ คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร. ๘ เป็นการรวบรวมคำฟ้องและคำพิพากษาศาลแพ่งซึ่งคุณพ่อเป็นโจทก์ฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กับพวกเป็นจำเลย หนังสือเล่มนี้พิมพ์มาหลายครั้งแล้ว ฉบับแรกพิมพ์ในปี ๒๕๒๓ ซึ่งคุณพ่อเป็นผู้รวบรวม คุณพ่อเชื่อในความยุติธรรม ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ เป็นอย่างไรต้องอ่านจากหนังสือเล่มนี้ คุณแม่เห็นว่าหลายคนเข้าใจผิดจากการจงใจแพร่ข่าวด้วยวิธีต่าง ๆ ว่าคุณพ่อเป็นผู้บงการกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ ดังนั้นเมื่อศาลที่ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐได้มีคำตัดสินใหม่ พิพากษาให้ผู้กล่าวหาคุณพ่อต้องยอมรับผิดในข้อหาละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน หมิ่นประมาท ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้คุณพ่อเสียหายทั้งชื่อเสียง เกียรติคุณ และถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากสังคม ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคุณพ่อ และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคุณเฉลียว ปทุมรส คุณชิต สิงหเสนี คุณบุศย์ ปัทมศริน ที่ถูกศาลซึ่งมีการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ ตัดสินประหารชีวิต

ตอนที่ทหารทำการรัฐประหารวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ มีคณะทหารมาที่บ้านทำเนียบท่าช้างและกราดปืนกลเข้ามา พี่สุดาจำความได้ไหมครับ

สุดา : ตอนนั้นพี่อายุได้ ๑๓ ปี คืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน อยู่ ๆ มีเสียงปืน เหมือนเสียงระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย แต่มาครั้งนี้สงครามสงบแล้ว ก็สงสัยว่าทำไมจึงมีการระเบิดอีก ต่อมาคุณแม่และพี่ปาลเข้ามาช่วยดูแล พี่ปาลบอกให้ทุกคนหมอบราบกับพื้น สักพักเสียงก็เงียบเพราะเขารู้ว่านายปรีดีไม่อยู่แล้ว

ดุษฎี : ที่ยิงเข้ามาในบ้านเป็นกระสุนปืนกลจากรถถัง ยิงตรงมาที่ห้องพระชั้น ๓ ติดถนนพระอาทิตย์ เป็นรูใหญ่ขนาดนกกระจอกทำรังได้

วาณี : วันนั้นคุณแม่ไม่สบาย ตื่นขึ้นมากลางดึก มีแสงสปอตไลต์จากรถถังส่องเข้ามาในห้องนอน ท่านเลยลุกขึ้นมา เดินไปที่ห้องกลางซึ่งปรกติคุณพ่อจะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ตรงนั้น ก็เห็นหนังสือพิมพ์ปลิวว่อน คนในบ้านบอกว่า คุณพ่อไปแล้ว พอทหารยิงปืนเข้ามา คุณแม่ตะโกนสวนออกไปว่า อย่ายิง ! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก ! แม้ทหารจะไม่ได้ยินเสียงตะโกนของคุณแม่ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้ลูก ๆ อุ่นใจว่า คุณแม่ยังปกป้องลูก

สุดา : ก่อนหน้านั้นมีคนมาเตือนแล้ว บอกว่าหลบไปก่อนเถอะ แต่นึกไม่ถึงว่าจะโดนถล่มแบบนี้ นึกว่าจะมาจับตัวไปเสียก่อน พอรุ่งเช้า ทหารบุกเข้ามาในบ้าน บอกว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล คุณแม่จึงพูดว่า เปลี่ยนรัฐบาลต้องไปเปลี่ยนที่สภา ไม่ใช่ที่บ้านนี้ ทำให้นึกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านต่อต้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยว่าการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนที่สภา ไม่ใช่การทำรัฐประหาร

เท่าที่จำความได้ หลังการทำรัฐประหารในวันนั้น เส้นทางการหลบหนีของคุณพ่อเป็นอย่างไร

วาณี : ตอนนั้นพี่อายุ ๖ ขวบ พี่ดุษฎีอายุ ๘ ขวบ พอรู้ว่าเกิดรัฐประหาร คุณพ่อก็ลงเรือจ้างไปอยู่กับทหารเรือที่พระราชวังเดิม จากนั้นไปสัตหีบ คุณแม่ก็พาเราไปเยี่ยมคุณพ่อ ต่อมาคุณพ่อเกรงใจพวกทหารเรือ เพราะอยู่มาหลายเดือนแล้ว กลัวฝ่ายอื่นไปบุก จึงขอลี้ภัยไปสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในขณะนั้น ผู้ว่าการสิงคโปร์ชาวอังกฤษก็อนุญาตให้ลี้ภัยได้

ต่อมาเมื่อปี ๒๔๙๒ คุณพ่อคิดจะฟื้นระบอบประชาธิปไตย จึงชักชวนเพื่อนฝูงลูกศิษย์ลูกหากลับมายึดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการ แต่ไม่สำเร็จ เลยกลายเป็นกบฏวังหลวง คุณพ่อต้องหลบภัยอีกครั้ง คุณแม่ให้คุณพ่อไปอยู่บ้านญาติที่ถนนสุรวงศ์และที่บ้านพูนศุข ถนนสีลม ต่อมาหลบภัยไปอยู่บ้านสวนฉางเกลือ ฝั่งธน เจ้าของบ้านกับคุณพ่อไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ช่วงนั้นภรรยาเจ้าของบ้านก็กำลังท้องแก่ด้วย แต่ด้วยความที่เขาเคารพและศรัทธาว่าคุณพ่อเสียสละรับใช้ประเทศชาติ เขาจึงเลิกจ้างคนรับใช้และให้คุณพ่อพักอยู่ชั้นบนของบ้าน เขาเสียสละมาก ๆ เลย

ดุษฎี : คุณพ่ออยู่ที่นั่น ๖ เดือนโดยที่ศัตรูไม่รู้เลย มีการออกหมายจับเป็นรูปคุณพ่อแต่งชุดชาวนา ให้ค่าหัวจำนวนมหาศาล ในที่สุดคุณแม่นี่แหละเป็นคนวางแผนติดต่อประสานงานให้คุณพ่อหลบภัยอีกครั้ง คุณพ่อปลอมตัวเป็นช่างไฟ ลงเรือประมงเล็ก ๆ ที่ท่าน้ำใกล้ ๆ บ้านผู้มีพระคุณ ขณะนั้นฝนตกพรำ ๆ จึงไม่มีใครสนใจ เรือลำเล็กแล่นออกสู่ปากอ่าวถึงบริเวณปากน้ำซึ่งมีด่านศุลกากรตั้งอยู่ ปรกติด่านจะปิดเวลา ๒๒.๐๐ น. แต่เรือลำนั้นเลยเวลาด่านปิดไปประมาณ ๑๐ นาที ช่างบังเอิญว่านาฬิกาของด่านนั้นเดินช้ากว่าเวลาจริง จึงทำให้เรือนั้นผ่านพ้นไปได้ มิฉะนั้นด่านศุลกากรจะกักเรือไว้จนรุ่งเช้า เมื่อเรือเดินทางต่อมาถึงป้อมพระจุลฯ มีเรือรบของทหารเรือจอดอยู่กลางน้ำเพื่อตรวจตราเรือที่ผ่านไปมา ก็ให้บังเอิญอีกว่านายทหารเรือบนเรือรบนั้นกำลังเล่นไพ่กันอยู่ จึงได้แต่เพียงสั่งพลทหารให้ลงไปตรวจเรือประมงลำนี้ เมื่อตรวจแล้วไม่พบอาวุธใด ๆ ก็ปล่อยเรือผ่านไปได้ วันนั้นถ้านายทหารลงเรือไปตรวจเอง คิดว่าคุณพ่อคงไม่รอดแน่ ๆ

วาณี : จากนั้นคุณพ่อก็ไปสิงคโปร์ และไปจีนต่อ เพราะสิงคโปร์รับรองรัฐบาลรัฐประหารแล้ว ผ่านฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ นั่งเรือไปเมืองชิงเต่า ตอนนั้นจีนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว มีกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์คนหนึ่งมารับ ตั้งแต่คุณพ่อหลบหนีออกไปเป็นเวลา ๕ ปี ก็ติดต่อกับคุณแม่ไม่ได้เลย

คุณพ่อเคยพูดถึงจอมพล ป. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยึดอำนาจปี ๒๔๙๐ และภายหลังเขียนจดหมายมาขออโหสิกรรมอย่างไรครับ

วาณี : ท่านว่าเคยร่วมอุดมการณ์กันมาก่อน ไม่ได้มีความโกรธแค้นกัน ตอนนี้ลูกหลานก็ไปมาหาสู่กันปรกติ ก่อนท่านจากไป ท่านให้สัมภาษณ์บางรายการโทรทัศน์ เอ่ยชื่อพรรคบางพรรคและคนบางคน เพื่อให้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าใครได้กระทำการใดบ้าง

ดุษฎี : คุณแม่เอ่ยถึงชื่อคนบางคนที่ใส่ร้ายคุณพ่อและผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายในกรณี สวรรคต โดยไม่คิดแค้น ระยะหลังท่านยังพูดว่า กรรมมีจริง ผลจากการกระทำของคนเหล่านั้นทำให้ลูกหลานเขารับกรรมอยู่ในขณะนี้

มองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น รู้สึกอย่างไรกับคุณแม่

สุดา : ยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่เตรียมการจะให้คุณพ่อหลบหนีออกไป พวกเราไม่รู้เลย คุณแม่ให้เรามีชีวิตเหมือนปรกติ คุณแม่เข้มแข็งมาก จะทุกข์ยังไงก็ไม่ให้ลูกรู้ ตอนนั้นถ้าคุณแม่หมดกำลังใจสักคน ก็ไม่รู้ว่าลูก ๆ จะทำอย่างไรเหมือนกัน

ดุษฎี : ท่านกล้าหาญ เข้มแข็ง เก็บความลับได้ดีเยี่ยม ไม่เคยแพร่งพรายให้ใครรู้เลย

ช่วยเล่าเหตุการณ์ช่วงที่คุณแม่ถูกจับติดคุกในข้อหากบฏสันติภาพเมื่อปี ๒๔๙๕

ดุษฎี : ต้องเล่าย้อนนิดหนึ่งว่า ก่อนหน้านั้นมีสงครามที่อเมริกาไปรุกรานเกาหลี พี่ปาลก็เอาใบเรียกร้องสันติภาพมาให้พวกเราลงชื่อคัดค้านสงคราม พี่ยังเอาไปให้เพื่อน ๆ ร่วมลงชื่อด้วยเลย หลังจากนั้นก็กลายเป็นชนวนที่เรียกว่า กบฏสันติภาพ คือคนต้องการสันติภาพ แล้วกลับเป็นกบฏ เพราะผู้ปกครองประเทศยุคนั้นฝักใฝ่สงคราม ตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ พี่สุดาไปอยู่ฝรั่งเศสแล้ว เหลือพี่กับวาณี

วาณี : ก่อนหน้านั้นตำรวจเคยไปค้นที่บ้านคุณแม่ที่ถนนสาทรเหนือ แล้วจับพี่ปาลไป วันที่คุณแม่ถูกจับ เป็นงานหมั้นของคุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ กับพี่เครือพันธ์ คุณแม่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายชาย มีตำรวจไปจับคุณเฉลียว ปทุมรส บิดาพี่เครือพันธ์ในงานหมั้น พอเห็นคุณแม่ ตำรวจบอกว่ามีหมายจับ เลยจับคุณแม่ไปด้วย แต่คุณแม่ขอไปรับลูกที่โรงเรียนก่อนเพราะลูกยังเล็กอยู่ ตอนคุณแม่มารับเราวันนั้น มีตำรวจนั่งหน้ารถมาด้วย เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น คุณแม่ถูกตำรวจควบคุมตัวไปที่กองสันติบาล กรมตำรวจ ปทุมวัน แล้วบอกว่าต้องให้ลูกมาอยู่ด้วยเพราะที่บ้านไม่มีผู้ใหญ่ดูแล เราสองคนก็เลยต้องไปอยู่ที่นั่น

ดุษฎี : จำได้ว่าห้องคุมขังอยู่ในตึกที่ทำการสันติบาล มีลูกกรงกั้นตรงบันไดขึ้นชั้น ๒ ส่วนห้องชั้น ๒ ที่คุมขังคุณแม่ มีลูกกรงที่หน้าต่าง ต่อมาท่านให้เราไปอยู่ประจำที่โรงเรียนเดิม วันเสาร์-อาทิตย์คุณน้าจะมารับไปอยู่กับคุณแม่ที่ห้องขังนั้น เป็นแบบนี้ตลอด ๘๔ วัน

ตอนที่ถูกจับและถูกคุมขัง คุณแม่แสดงความรู้สึกให้ลูกๆ เห็นบ้างไหมครับ

วาณี : วันที่พี่ปาลถูกจับ คุณแม่ขึ้นไปร้องไห้ข้างบนบ้านคนเดียว ท่านสงสารลูกชาย เสียใจที่ไม่สามารถปกป้องลูกได้ ตอนที่ท่านถูกจับ ตำรวจพูดจาถากถาง ท่านก็ไม่เสียน้ำตา ท่านเข้มแข็งมาก เก็บอารมณ์ ไม่แสดงความอ่อนแอ ถามว่ากลัวไหม กลัว แต่คุณแม่มีความกลัวน้อยกว่าความกล้า ตอนนั้นเรายังเด็ก ไม่ได้คิดอะไร คิดเหมือนกับว่าย้ายจากบ้านไปอยู่อีกที่หนึ่ง ตอนแรกเราต้องปูเสื่อนอนกับพื้น สามคนแม่ลูกนอนในมุ้งใหญ่หลังเดียวกัน พัดลมก็ไม่มี สำหรับคุณแม่อาจจะลำบากหน่อย ท่านไม่ชิน เลยขอเตียงผ้าใบมาจากบ้าน

ดุษฎี : ที่จำได้คือตำรวจค้นสิ่งของทุกอย่างที่ญาติมิตรนำไปเยี่ยม อาหารก็ถูกตรวจอย่างละเอียด ขนาดใช้ไม้แหลมจิ้มลงไปกวนในนั้น ทำยังกับคุณแม่เป็นอาชญากรตัวสำคัญ รูปถ่ายที่คุณแม่ภูมิใจที่สุด สั่งไว้ว่าให้นำมาตั้งในพิธีไว้อาลัยคือรูปตอนที่ตำรวจนำท่านไปศาลอาญาเพื่อ ขออำนาจฝากขัง เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เป็นรูปที่บอกเล่าอะไรหลายอย่าง ทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ในภาพท่านถือกล่องใบหนึ่งในมือ มีคนนึกว่าเป็นหนังสือ ท่านไขความว่าเป็นกล่องกระดาษทิชชูคลีเน็กซ์ เอาไว้ซับน้ำตาเวลาท่านร้องไห้ แต่ไม่ให้คนอื่นเห็น ท่านปัญญานันทภิกขุ บอกว่า ความดีข้อหนึ่งของคุณแม่คือเป็นคนเข้มแข็ง

สุดา : ท่านเคยพูดเสมอว่า ถ้าเราไม่ผิด ก็ไม่ต้องกลัวอะไร

ตอนที่พี่สองคนอยู่ในที่คุมขัง รู้สึกเจ็บปวดมากไหม

ดุษฎี : ความเข้าใจตอนนั้นยังมีจำกัด พี่ก็พอรู้ว่าคุณแม่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตอนหลังรู้เรื่องมากขึ้นว่านี่คือความอยุติธรรมในสังคมไทย ตอนอยู่ในที่คุมขัง ชีวิตความเป็นอยู่ของเราไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะคุณแม่เดินสายกลางตามที่คุณตาสอนเอาไว้ เรายังมีครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น มีคุณยาย คุณป้า คุณน้า คุณอา ทุกคนดูแลเราอย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่องอะไรเลย

อยากให้เล่าเรื่องชีวิตที่เมืองจีนให้ฟังครับ

ดุษฎี : คุณแม่กับลูกรุ่นเล็ก ๒ คนไปถึงปักกิ่งในปี ๒๔๙๖ ตอนนั้นจีนเพิ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ได้ไม่นาน เราสองคนไปอยู่โรงเรียนสตรี เป็นโรงเรียนประจำซึ่งอยู่ติดกับพระราชวังจงหนานไห่ที่ผู้นำคอมมิวนิสต์อยู่ อากาศหนาวมาก อุณหภูมิติดลบ ในห้องนอนของเรามีเพียงเตาถ่านหินช่วยให้ความอบอุ่น ประเทศจีนสมัยนั้นยากจนมาก เขาเอาถ่านหินมาบดแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ เอาไปตากแห้ง จากนั้นจึงนำมาทำเป็นเชื้อไฟเพื่อจุดให้ความอบอุ่นตอนหัวค่ำ พอตกดึกไฟมอด ก็จะหนาวมาก สุขาอยู่นอกห้อง เป็นถังไม้ มีหญ้าแห้งรองก้นถังเพื่อที่เวลาปัสสาวะจะได้ไม่กระเด็น ก็ค่อนข้างจะลำบาก สมัยนั้นคนจีนไม่ได้กินแป้งสาลี เขาเอาข้าวโพดมาบดเป็นแป้งแล้วไปปั้นเป็นก้อน นึ่งให้สุก ถือเป็นอาหารที่ย่อยยาก

ตอนหลังย้ายไปอยู่เมืองกวางโจว คุณพ่อได้รับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี ได้รับสิทธิพิเศษในระดับเดียวกับรัฐมนตรีของจีน คือมีรถยนต์ มีคนขับ มีคนครัว มีคนทำงานบ้าน มี รปภ. คอยติดตาม มีบ้านเดี่ยวหลายห้องนอนอยู่สบาย อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนที่อยู่บนเนินเขา แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เราไปอยู่โรงเรียนประจำเพื่อฝึกวินัยในชีวิตประจำวัน

ระหว่างอยู่โรงเรียนมัธยม ก็ไปทำงานสารพัดอย่าง ทั้งทำนา ทำสวน ทำงานโรงงาน ขนถ่านหิน สร้างคันดิน ทำรางรถไฟ สร้างอ่างเก็บน้ำ ช่วงนั้นฝนตกหนัก ต้องขุดดินเปียก ๆ หาบมาถมคันดิน ดินเปียกนี่หนักมาก วาณีทำงานหนัก หาบดินจนไหล่เป็นแผล มีอยู่คืนหนึ่ง วาณีตกใจตื่นแล้วร้องไห้กลางดึก เธอถูกตะขาบหรือแมงป่องตัวใหญ่กัดจนปวดบวมมาก ครูพี่เลี้ยงช่วยปฐมพยาบาล ทายาหม่องให้ รอจนเช้าจึงพาไปหาหมอ ถ้าพิษแรงกว่านั้นอาจจะตาย

จริง ๆ เราจะอยู่อย่างสบายก็ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ชอบให้ลูก ๆ ใช้แรงงาน ให้เรารู้จักชีวิตที่ลำบากเอาไว้ ท่านพูดเสมอว่า แรงงานเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์ และความสะดวกสบายไม่ต้องฝึก ความลำบากสิต้องฝึก จะได้มีความอดทน

วาณี : พี่อยู่เมืองจีนตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ผ่านทั้งชีวิตนักเรียนมัธยมต้นจนจบมหาวิทยาลัย ได้เห็นเหตุการณ์ผันแปรทางการเมืองจีนมากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์ที่เรียกว่า การก้าวกระโดดไกลปี ๒๕๐๑ ตอนนั้นจีนตั้งใจพัฒนาให้ทันอังกฤษภายใน ๒๐ ปี ต้องพัฒนาอุตสาหกรรม มีการถลุงเหล็กกล้า ตามโรงเรียนมีการตั้งเตาหลอมเหล็กกล้า ให้เด็ก ๆ เที่ยวเก็บเศษโลหะ อยากผลิตได้เยอะ ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอให้มีผลผลิตก็แล้วกัน ตอนนั้นจีนเร่งสร้างงานการเกษตรด้วย ทุกคนต้องไปทำนา เพราะข้าวปลาอาหารขาดแคลนบวกกับภัยธรรมชาติ ถือเป็นยุคที่ลำบากที่สุดของจีน

ดุษฎี : สมัยนั้นทางการจีนอาจจะดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้มีคนจนมากยิ่งขึ้น คนไม่มีจะกิน ทุกคนต้องปันส่วนอาหาร คนจีน ๑ คนได้ธัญญาหารประเภทข้าวและแป้งสาลีประมาณ ๑๒-๑๕ กิโลกรัมต่อเดือน เนื้อหมู วัว ไก่ ปลา รวมแล้วประมาณ ๓ ขีดต่อเดือน เสื้อผ้าได้ ๓ ชุดต่อปี มีสีให้เลือกแค่น้ำเงิน เขียวขี้ม้าและเทา คนจีนมีแต่คนผอม ๆ หน้าซีด ๆ ต่างกับเดี๋ยวนี้ที่เขาอยู่ดีกินดี มีคนอ้วนมากมายจนทำให้ธุรกิจลดความอ้วนเจริญเติบโตในจีนอย่างยิ่ง

วาณี : แต่ตอนนั้นเราอยู่ในฐานะชาวต่างประเทศ เขาให้สิทธิพิเศษ มีร้านค้าสำหรับคนต่างชาติ ชื่อร้านมิตรภาพ เราสามารจับจ่ายข้าวของได้โดยไม่ต้องปันส่วน จำได้ว่าช่วงหนึ่งที่เอาอาหารไปกินที่โรงเรียน กับข้าวแทบจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย มีแค่ผักเล็กน้อยเท่านั้น เอาซีอิ๊วราดข้าว โรยพริกชี้ฟ้า แค่นี้ก็กินอิ่มได้แล้ว

ดุษฎี : การได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนนานพอควร ประกอบกับสิ่งที่คุณแม่พร่ำสอนมาตลอด ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างสมถะ ทุกวันนี้ครอบครัวเรากินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

ชีวิตประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ที่เมืองจีนเป็นอย่างไรบ้าง

ดุษฎี : คุณพ่อก็ติดตามข่าวสาร ตื่นเช้ามาก็ฟังวิทยุวีโอเอ บีบีซี เอ็นเอชเค และกรมประชาสัมพันธ์ อ่านหนังสือพิมพ์จากเมืองไทยที่สั่งผ่านมาทางฮ่องกง อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หาความรู้เพิ่มเติมเสมอ เดินเล่นออกกำลังกาย ทำอาหาร

วาณี : คุณพ่อสนใจการเกษตร ที่บ้านปลูกผักสวนครัว บางทีก็มีคนเชิญให้ไปชมโรงงาน ให้ไปทดลองรถไถนา ไปชมคอมมูนต่าง ๆ ไปดูโครงสร้างการจัดการของเขา คุณพ่อชอบออกกำลังกายด้วย อายุ ๖๐ กว่ายังไปว่ายน้ำ พวกเราก็เช่นกัน สมัยนั้นเหมาเจ๋อตงว่ายน้ำข้ามแม่น้ำแยงซีจนเป็นข่าวใหญ่ คนจีนก็เลยตื่นตัว ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำกันทั้งประเทศ พี่เคยลงแข่งว่ายน้ำมาราธอนในแม่น้ำจูเจียง จากเกาะชาเมี่ยนว่ายไปจนถึงมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ระยะทางเกือบ ๑๐ กิโลเมตร ใช้เวลาถึง ๔ ชั่วโมง นอกจากว่ายน้ำแล้ว พี่ยังชอบเล่นกีฬาทุ่มน้ำหนัก แล้วก็บาสเกตบอล

ดุษฎี : คุณพ่อสนับสนุนให้เราออกกำลังกาย เราก็ชอบ เราเป็นนักกีฬาตั้งแต่ชั้นมัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัย พี่เล่นยิมนาสติก เคยได้แชมป์ด้วย เวลาเล่นยิมนาสติก โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีบ่อย เคยตกจากบาลานซ์บีมจนเอ็นขาพับฉีกขาด คุณพ่อคุณแม่พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอง ต่อมาก็ตกบาร์ต่างระดับอีก ท่านก็พาไปหาหมออีก แต่ท่านไม่เคยห้ามเราเล่น เพราะรู้ว่าเราชอบ

คุณพ่อคุณแม่คิดจะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสเพราะเหตุใด

ดุษฎี : รัฐบาลยุคนั้นตามก้นอเมริกา ต่อต้านจีน ใครไปจีน อย่างคณะศิลปินของคุณสุวัฒน์ วรดิลก กลับมาก็ถูกจับ พี่สุดาไปเมืองจีนก็ถูกขึ้นบัญชีดำ คุณพ่ออยู่ที่ประเทศจีน ๒๑ ปี ติดต่อกับทางเมืองไทยยากลำบากมาก เลยเห็นว่าน่าจะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสเพื่อความสะดวกในการติดต่อญาติมิตร

สุดา : ตอนนั้นพี่เรียนจบจากฝรั่งเศสแล้ว จึงคิดจะกลับเมืองไทยมาประกอบอาชีพสอนดนตรี ก็ไปแวะหาคุณพ่อคุณแม่ที่ประเทศจีนก่อน เวลาไปก็ไม่สะดวกหรอกเพราะตอนนั้นฝรั่งเศสยังไม่มีความสัมพันธ์กับจีน เราต้องไปสวีเดน ผ่านมอสโก แล้วจึงไปจีน พอไปถึงคิดว่าจะอยู่สักพักแล้วกลับ ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารราวปี ๒๕๐๐ มีข่าวส่งมาว่าใครที่ไปเมืองจีน หากกลับไปเมืองไทยก็ถูกจับ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และอีกหลาย ๆ คนก็กลับประเทศไทยไม่ได้ มีชื่อพี่อยู่ในหมายจับด้วย เขาเหวี่ยงแหจับหมด คุณพ่อเลยบอกว่าให้อยู่ก่อน เลยอยู่ที่เมืองจีนอีกหลายปี ระหว่างนั้นก็ติดต่อทางเมืองไทยลำบาก หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ใส่ร้ายคุณพ่อในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ อะไรต่ออะไร คุณพ่อต้องทำคดีฟ้องร้องพวกที่ใส่ร้ายกล่าวหา อยู่ในเมืองจีนจึงไม่สะดวก พอดีทางฝรั่งเศสเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับประเทศจีน ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสขอพบคุณพ่อ เขารู้ว่าคุณพ่อเป็นคนอย่างไร เขาว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยินดีต้อนรับ ก็เลยย้ายไปอยู่ที่นั่น ทำให้ติดต่อกับมิตรสหายในประเทศไทยสะดวกขึ้น

ช่วงชีวิตที่อยู่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไร

สุดา : คุณพ่อคุณแม่รวบรวมเงินทั้งหมดไปซื้อบ้านที่เขตอองโตนี ชานกรุงปารีส เป็นบ้านเก่าหลังเล็ก ๆ มีสวนหลังบ้าน เวลาคุณป๋วยไปเยี่ยมคุณพ่อ ต้องนอนเตียงผ้าใบในห้องรับแขก ช่วงนั้นคุณแม่อายุ ๗๐ กว่าแล้ว แต่ท่านชอบเดินไปจ่ายตลาดที่ตลาดสด เดินลากรถมีล้อ ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ขากลับก็ขึ้นรถเมล์มาลงป้ายใกล้ ๆ บ้าน ตอนหลังเมื่อคุณพ่อเสีย นำอัฐิกลับมาเมืองไทย คุณแม่ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อย่างถาวร ก็ขายบ้านอองโตนีให้คนเวียดนามไป

ดุษฎี : ตอนนั้นมีคนไทยบางคนที่มีความคิดยาวไกล อยากจะซื้อบ้านหลังนั้นไว้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ยังติดขัดบางประการ เลยไม่ได้ซื้อ

วาณี : ที่ฝรั่งเศส คุณพ่อมักได้รับเชิญจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสบ้าง อังกฤษบ้าง เยอรมนีบ้าง ให้ไปแสดงปาฐกถา หรือเขียนบทความให้นักศึกษาทางเมืองไทยบ้าง คุณแม่ติดตามคุณพ่อไปพูดคุยกับนักเรียนไทยในต่างแดนทุกครั้ง และเป็นผู้ช่วยค้นคว้าข้อมูลในการเขียนหนังสือของคุณพ่อด้วย

ลูก ๆ รู้สึกอย่างไรกับการที่คุณแม่ต้องออกนอกประเทศ ๓๐ กว่าปีโดยไม่ได้มีความผิด

ดุษฎี : บ่นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร คุณแม่ท่านมีความสงบในใจ บอกเสมอว่าเรื่องไม่ดี ๆ ที่เกิดขึ้น ลืมไปหมดแล้ว ไม่แค้น แต่ถ้าใครทำดีด้วยก็จะจำ

วาณี : ยกตัวอย่างคนขับรถเคยถามว่า ทำไมจึงเลือกไปเติมน้ำมันที่ปั๊มเชลล์ ปากทางถนนคอนแวนต์ ท่านบอกว่าท่านระลึกอยู่เสมอว่า เรือน้ำมันของบริษัทนี้เคยช่วยคุณพ่อตอนหนีไปสิงคโปร์ ส่วนเจ้าของปั๊มน้ำมันนี้ก็เคยบริจาคเงินให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ท่านนึกถึงตลอด อยากไปตอบแทนโดยไม่ต้องให้เขารู้ ไม่ต้องเลือกว่าราคาน้ำมันจะถูกหรือแพง

เมื่อคุณแม่กลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร กิจวัตรประจำวันท่านทำอะไรบ้าง

ดุษฎี : ท่านนอนน้อย อายุยิ่งมาก ยิ่งตื่นเช้าขึ้น ตื่นตีสอง ฟังวิทยุ ฟังรายการพระเทศน์ วันอาทิตย์ดูรายการโทรทัศน์ที่มีการเทศน์โดยนักบวชศาสนาคริสต์และอิสลาม พอพระอาทิตย์ขึ้นก็จะออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนสลับกับการใช้เครื่องมือใน การยืดแขน ทำกายบริหาร แล้วเดินรอบบ้าน ๓ รอบ สาย ๆ ถ้าไม่มีลูกหลานญาติมิตรมาเยี่ยม ก็จะนั่งพักผ่อน อ่านหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือที่ตัวหนังสือมีขนาดใหญ่พอที่จะอ่านเห็น เพราะจอประสาทตาของท่านเสื่อมตามวัย นอกจากนี้บางทีท่านก็เขียนบันทึกความทรงจำด้วย

วาณี : บ่าย ๆ จะเอนหลังนอนพักเอาแรง บ่ายสามโมงกว่าจะลุกขึ้นมาดูข่าวโทรทัศน์ แล้วก็ออกมานั่งที่เฉลียงหน้าห้องนอน พูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนที่มาเรียนดนตรีหรือภาษาจีน ท่านเป็น “คุณยายท่าน” ของเด็ก ๆ แดดร่มลมตกจะเล่นกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กตัวน้อย ๆ ที่คุณแม่เรียกว่า “ชื่นใจ” และเล่นกับลูกสุนัขพันธุ์ชิวาวาชื่อ “คุกกี้” ที่เด็ก ๆ ในบ้านเลี้ยงไว้ ท่านจะแจกขนมให้เด็ก ๆ ด้วย จนถึงใกล้ค่ำจึงกลับเข้าห้องไปอาบน้ำและทำธุระส่วนตัว จากนั้นจึงรับประทานอาหารมื้อค่ำ เป็นอาหารเบา ๆ ดูโทรทัศน์อีกหน่อย ประเภทรายการข่าว ท่านมักบ่นว่าทำไมสื่อจึงให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวของพวกดารามากนัก ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ท่านเห็นว่าน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่มีสาระมากกว่านี้

ดุษฎี : กิจวัตรบางวันอาจเปลี่ยนไปบ้าง บางครั้งท่านได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์บ้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง คนรุ่นใหม่เชิญไปเป็นประธานงานศิลปะเพื่อสังคม ให้สัมภาษณ์สื่อและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในรอบ ๗๕ ปี ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาท่านยังขึ้นบันไดตึก ๓ ชั้นไปประชุมใหญ่กรรมการมูลนิธิปรีดีฯ เลย

ท่านชอบทานอาหารประเภทไหนครับ

สุดา : ท่านชอบทานอาหารไทย ๆ อย่าง ปลาสลิด น้ำพริกมะม่วง ผัดผักสด ส้มตำ แกงส้ม ต้มโคล้งปลากรอบ แกงผักบุ้งที่ใส่เต้าหู้ยี้คล้ายกับเย็นตาโฟ แกงหอง (อาหารโบราณชนิดหนึ่ง) ผลไม้ก็เป็นสับปะรด มังคุด ส่วนของหวานที่ชอบที่สุดคือข้าวเหนียวมะม่วงและฝอยทอง ท่านไม่นิยมรับประทานหมูเห็ดเป็ดไก่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักสดและผลไม้ รวมทั้งข้าวกล้องที่รับประทานมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว คงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านมีอายุยืนและแข็งแรงจนถึงอายุใกล้ ๙๖ อาหารที่คุณแม่รับประทานแต่ละมื้อมีแค่ ๒-๓ อย่าง อาหารเย็นจะเป็นกับข้าวที่เหลือจากมื้อกลางวัน เกือบจะไม่เคยทำขึ้นมาใหม่ คุณแม่ถือปฏิบัติเช่นนี้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

นิสัยส่วนตัวของท่านเป็นอย่างไร

วาณี : ท่านเป็นคนตรง ๆ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น มีเหตุผล รับฟังข้อคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ของลูกเสมอ เป็นคนตรงต่อเวลา พิถีพิถันในการทำเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกแบบแผนจนบางครั้งดูเป็นว่ากวดขันเกินไป และบางครั้งรู้สึกรำคาญที่คนใกล้ชิดพูดหรือทำอะไรที่ไม่มีเหตุผล ท่านไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่สุรุ่ยสุร่าย เป็นคนใจดี ชอบทำบุญ ชอบช่วยเหลือคน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คุณแม่ไม่ชอบสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะจิ้งจกกับตุ๊กแก ถึงกับให้รางวัลคนในบ้านนำจับตุ๊กแกแล้วเอาไปปล่อยไกล ๆ แต่ห้ามไม่ให้ทำร้าย ท่านเป็นคนทันเหตุการณ์ ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ รักการอ่านหนังสือ ประเภทหนังสือธรรมะ สารคดี และอื่น ๆ เมื่อสูงวัยบางทีก็พูดซ้ำในเรื่องที่พูดมาแล้ว ชอบจดบันทึกประจำวัน ทำมาหลายสิบปีแล้ว มักจะจดเรื่องดินฟ้าอากาศ การพบปะผู้คน บัญชีใช้จ่าย อาการเจ็บไข้ได้ป่วย

คุณแม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับตำแหน่งท่านผู้หญิงหรือไม่ครับ

สุดา : ท่านไม่เคยตื่นเต้นกับลาภยศสรรเสริญ ท่านเคยพูดเล่นกับคนใกล้ชิดว่า ถ้าใครหารูปท่านใส่สายสะพายเครื่องราชฯ ท่านผู้หญิงได้ จะให้รางวัล เพราะท่านไม่เคยถ่ายรูปเต็มยศแบบที่เขานิยมทำกัน ท่านจะสวมใส่สายสะพายเฉพาะเวลาไปงานรัฐพิธีเท่านั้น

วาณี : นามบัตรของท่านไม่ใช้คำนำหน้าว่า ท่านผู้หญิง ท่านภูมิใจในความเป็น Madame Pridi Banomyong (ภริยานายปรีดี พนมยงค์) มากกว่า

ดุษฎี : คุณแม่เป็นท่านผู้หญิงติดดิน เป็นขวัญใจชาวสวนพลู หลายๆ คนประทับใจในความเรียบง่ายและการใช้ชีวิตสมถะของคุณแม่ วินมอเตอร์ไซค์คนหนึ่งเคยพาลูกเมียมากราบในวันเกิดคุณแม่ แล้วถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก บอกว่าเป็นโชคดีที่สุดของเขา คุณแม่เป็นลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวราคาถูก ๑๐ บาท ร้านทำผม ร้านเครื่องเย็บ ร้านขายดอกไม้เล็ก ๆ พอทราบข่าวว่าคุณแม่เสียชีวิต พวกเขามาเขียนคำไว้อาลัย บางคนไปงานไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตคุณแม่เป็นอย่างไรครับ

สุดา : น่าเสียดายว่าลูก ๆ เคารพสิทธิส่วนตัวของท่าน ไม่ได้ไปพลิกอ่านบันทึกประจำวันของท่าน จึงไม่รู้ว่าท่านมีอาการแน่นหน้าอกปวดหน้าอกมาเกือบเดือนแล้ว แต่เมื่อหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะไหลย้อน คุณแม่ก็เชื่อตามนั้น จึงไม่ได้รับการเยียวยาตามโรคที่แท้จริง จนกระทั่งวันสุดท้ายหมอถึงได้บอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจวาย แต่ก็สายเกินแก้ เป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อคนสูงอายุมีอาการผิดปรกติ จะต้องตรวจให้ละเอียดถี่ถ้วนกว่านี้

วาณี : อันที่จริงท่านเป็นโรคหัวใจตามวัยอยู่แล้ว ท่านจะรับประทานยาขยายหลอดเลือดอยู่ทุกวัน จนกระทั่งวันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม ไปพบหมอระบบทางเดินอาหารและหมอโรคหัวใจ หมอบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก หัวใจปรกติ ความดันปรกติ พอถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ท่านมีอาการแน่นหน้าอกและปวดร้าวแขนซ้าย ให้หมอนวดร้านสุขภาพไทยมาคลายเส้น แต่ไม่ดีขึ้น พอบ่ายสามโมงท่านเรียกลูกให้พาไปโรงพยาบาล เพราะเริ่มเกร็งที่กรามและปวดหน้าอกด้านซ้าย ไปถึงโรงพยาบาล เขาพาขึ้นไปแผนกหัวใจ รอหมอนานกว่าจะได้พบ หมอถึงได้บอกว่าอาการของคุณแม่บ่งบอกว่าเป็นโรคเส้นเลือดตีบ สมควรไปทำบอลลูนเส้นเลือดหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ด่วน ระหว่างที่นั่งรถพยาบาลจากโรงพยาบาลนั้นไปโรงพยาบาลจุฬาฯ พอถึงใต้สะพานไทย-ญี่ปุ่น ท่านพูดคำสุดท้ายกับลูกว่า จะถึงโรงพยาบาลแล้วหรือยัง ตอนหลังถึงเข้าใจว่าท่านคงทรมานกับความเจ็บปวด อยากถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ เร็ว ๆ พอไปถึงตึก สก หมอตรวจแล้วก็มาบอกอาการป่วยให้ลูกหลานทราบ หมอฉีดสีดูก่อน พบว่าเส้นเลือดอุดตัน ๓ เส้น ทำบอลลูนได้จะดีขึ้น แต่ก็เสี่ยง สุดท้ายหมอทำบอลลูนให้ ๒ เส้น แล้วย้ายไปอยู่ห้อง CCU ตอนนั้นเราทราบว่าการฉีดสีเพื่อตรวจหาตำแหน่งเส้นเลือดอุดตันอาจทำให้ไต ทำงานล้มเหลวในผู้สูงอายุ

สุดา : โรคแทรกซ้อนทำให้คุณแม่อาการทรุดหนัก มีน้ำในปอด มีเลือดออกในกระเพาะและไตวาย ความดันต่ำลงเรื่อย ๆ

วาณี : เช้าวันศุกร์ที่ ๑๑ เป็นวันเกิดคุณพ่อ คุณแม่พยายามที่จะพูด แต่พูดไม่ได้เพราะใส่ท่อช่วยหายใจไว้ ลูกถามว่าท่านเจ็บหลังใช่ไหม ท่านพยักหน้า หิวน้ำใช่ไหม ก็พยักหน้า ปวด อยากถ่าย แต่ไม่ออก ท่านอดทนมาก ไม่แสดงอาการหงุดหงิดให้เห็นเลย

ดุษฎี : ท่านสิ้นลมอย่างสงบคืนวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เวลาตีสอง โบราณยังถือว่าเป็นวันที่ ๑๑ อยู่ เพราะยังไม่ย่ำรุ่ง ท่านสิ้นลมในวันเกิดคุณพ่อพอดี คุณแม่เกิดวันที่ ๒ มกราคม สิ้นลมวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ส่วนคุณพ่อเกิดวันที่ ๑๑ พฤษภาคม สิ้นลมวันที่ ๒ พฤษภาคม ก่อนสิ้นใจ ๒ วัน ตอนกลับจากพาคุณแม่ไปโรงพยาบาล ผ่านตรอกป่าช้า ถนนสีลม ท่านพูดถึงเรื่องตอนที่คุณพ่อต้องหลบภัยในเหตุการณ์กบฏวังหลวง ท่านบอกว่า สมัยนั้นแม่เดินผ่านตรงนี้เพื่อลงเรือที่ท่าน้ำสาทรไปพบพ่อที่ฝั่งธน แม่เดินมาคนเดียว แถวนี้เป็นป่าช้าที่เปลี่ยวมากและมืดสนิท ไม่เหมือนสมัยนี้มีตึกรามบ้านช่องมากมาย แสดงว่าความนึกคิดของคุณแม่ผูกพันกับคุณพ่อตลอดเวลา

ในคำสั่งถึงลูก ๆ ทุกคนของท่านมีความหมายว่าอย่างไร

สุดา : ท่านไม่ชอบรบกวนใคร งานศพทั่วไปมักสวด ๓-๗ คืน ท่านรู้สึกว่ารบกวนญาติมิตรมากและไม่อยากให้ลูกหลานลำบากด้วย หลังคุณแม่เสียชีวิต ได้ส่งมอบร่างให้โรงพยาบาลจุฬาฯ ทันที ท่านไปเป็นอาจารย์ใหญ่ สุดท้ายร่างก็ยังเป็นประโยชน์ได้ พี่ปาลที่เสียชีวิตไปก่อนก็ทำเช่นนี้ คุณแม่เกรงว่าโรงพยาบาลจะไม่รับนะ เพราะท่านอายุมาก แต่โรงพยาบาลเขาก็รับ เรายังคุยกับคุณหมอให้ผ่าสมองดูซิว่าเพราะอะไรท่านจึงมีความจำเป็นเลิศ

วาณี : นอกจากนี้ยังช่วยให้หมอได้เรียนรู้ด้วยว่า สำหรับคนสูงอายุเมื่อมีอาการแน่นหน้าอก ก็น่าจะสันนิษฐานไปทางโรคหัวใจ คุณแม่พูดเสมอว่า ชีวิตนี้ไม่เคยเป็นอาจารย์ ท่านอยากเป็นอาจารย์ใหญ่ในวาระสุดท้าย

ดุษฎี : การที่คุณแม่ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้นนั้น วิสา คัญทัพ เขียนไว้ในบทกวี “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ตอนหนึ่งว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใดทั้งสิ้น ประชาชนได้ยินนิ่งสนิท ไม่รบกวนเดือดร้อนวอนญาติมิตร ชวนพินิจลึกเหลือถึงเนื้อใน” ผู้อ่านก็ไปตีความเอาเองก็แล้วกัน

พี่ ๆ รู้สึกถึงความสูญเสียครั้งนี้อย่างไรครับ

สุดา : เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ คุณพ่อสิ้นใจที่บ้านพักเมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส สงสารว่าท่านต้องมาเสียชีวิตในต่างแดนทั้ง ๆ ที่ท่านผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอน แต่ก็กลับมาไม่ได้

วาณี : ตอนนั้นถึงจะสูญเสียคุณพ่อไป แต่เรายังมีคุณแม่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในครอบครัว เป็นประมุขของลูก ๆ หลาน ๆ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเรา

ดุษฎี : การจากไปของคุณแม่กะทันหันมาก แม้จะรู้ว่าต้องมีวันนี้ แต่ก็มาถึงเร็วเกินคาด เพราะคุณแม่ยังดูแข็งแรงอยู่เลย ถ้าย้อนวันเวลาได้ อยากให้คุณแม่อยู่จนอายุครบ ๑๐๐ ปี ทุกวันนี้คิดถึงคุณแม่ที่สุด รู้สึกว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น ขาดที่พึ่งทางใจ

วาณี : มองไปที่เฉลียง เห็นเก้าอี้หวายที่ท่านนั่งอยู่ทุกบ่าย เราปลอบใจตัวเองว่า คุณแม่ไม่ได้ไปไหน ท่านยังนั่งอยู่ตรงนั้น…