ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ

เค้าโครงการเศรษฐกิจ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)

ข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้

การแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์

การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร์นี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ

ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ

เหตุแห่งความลำเอียง

แต่มีข้อควรระลึกว่า การจัดบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมมีลัทธิอยู่มากมายหลายอย่าง แต่ผู้ที่นิยมนับถือในลัทธิต่าง ๆ ยังมิอาจที่จะทำความตกลงกันได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เดสชองป์ส์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสได้กล่าวไว้ว่ามี อยู่ ๓ ประการ

ไม่รู้โดยไม่ตั้งใจ

๑. เพราะบุคคลทุกคนยังไม่รู้ลัทธิต่าง ๆ การไม่รู้นี้เป็นโดยไม่ตั้งใจ เช่นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหรืออ่านตำราที่แท้จริงของลัทธิต่าง ๆ บุคคลผู้นั้นก็มิอาจที่จะทำความตกลงอย่างไรได้

ไม่รู้โดยตั้งใจ

๒. เพราะตั้งใจจะไม่รู้ เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำโพนทนาตลาดว่า ลัทธิหนึ่งนิยมให้ฆ่าฟันกัน ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีเอามาแบ่งให้แก่คนจนเท่า ๆ กัน เอาผู้หญิงเป็นของกลางแล้วก็หลงเชื่อตามคำตลาดและมีอุปาทานยึดมั่นในคำชั่ว ร้ายและไม่ค้นคว้าและสืบต่อไปให้ทราบความว่า ลัทธินั้นได้ยุยงให้คนฆ่าฟันกันจริงหรือ ริบทรัพย์เอามาแบ่งให้เท่า ๆ กันจริงหรือ เอาผู้หญิงมาเป็นของกลางจริงหรือ

ประโยชน์ส่วนตน

๓. เพราะเหตุประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือบุคคลที่แม้จะรู้ลัทธิต่าง ๆ ว่ามีส่วนดีอย่างไรก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ ไม่ยอมที่จะดำเนินตาม เพราะเหตุที่ตนมีประโยชน์ส่วนตัวที่จะป้องกันไม่ให้ใช้ลัทธิต่าง ๆ นั้น เช่น ลัทธิโซเชียลลิสม์ ที่ประสงค์ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสียเอง เพื่อประโยชน์ของราษฎรเสียทั้งหมดดั่งนี้ ผู้ที่ประกอบอุตสาหกรรมก็ต้องไม่นิยมลัทธิโซเซียลลิสม์เพราะเกรงไปว่า ประโยชน์ตนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องถูกริบ หรือบุคคลที่เกลียดชังรัฐบาลด้วยเหตุส่วนตัว แม้จะรู้ลัทธิต่าง ๆ และจะเห็นว่าลัทธินั้นดีก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินตามลัทธินั้น ตนเองได้ตั้งใจเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ก็แสร้างทำเป็นถือลัทธิหนึ่ง บุคคลจำพวกนี้จัดเป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เพราะเหตุที่ตนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ หาได้มุ่งถึงประโยชน์ของราษฎรโดยทั่วไปไม่

ทิฏฐิมานะ

สำหรับประเทศสยามที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตมายังเห็นว่ามีอีกเหตุหนึ่ง คือทิฏฐิมานะ ข้าพเจ้าเคยอ่านคำบรรยายของท่านนักปราชญ์ในสยามบางท่านซึ่งอธิบายกล่าวภัยใน ลัทธิหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ถามท่านผู้นั้นว่าท่านได้อ่านหนังสือจากหนังสือปรปักษ์ของลัทธิ นั้นคือคำเล่าลือ ได้ความว่าท่านได้ยินคำเล่าลือ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้อ่านหนังสือของผู้ที่เป็นกลาง ท่านอ่านแล้วและเห็นจริงว่าที่ท่านได้บรรยายมาแล้วเป็นคำเท็จ แต่เพื่อที่จะสงวนชื่อเสียงส่วนตนของท่าน ท่านก็มีทิฏฐิมานะแสร้งบรรยายอยู่ตามเดิม ทั้ง ๆ รับกับข้าพเจ้าว่าท่านผิด แต่ท่านต้องทำโดยมานะ ท่านนักปราชญ์เหล่านี้เป็นพวกอุบาทว์กาลีโลกเช่นเดียวกับ พวกที่นึกถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่

ตั้งใจเป็นกลาง

ฉะนั้นผู้อ่านคำชี้แจงของข้าพเจ้า ขอได้โปรดตั้งใจเป็นกลาง หลีกเลี่ยงจากเหตุชั่วร้ายดังกล่าวข้างต้นนี้และวินิจฉัยว่า เค้าโครงการที่ข้าพเจ้าคิดอยู่นี้จะช่วยราษฎรได้ตามที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ นั้นได้หรือไม่ เมื่อติดขัดสงสัยประการใดก็ขอได้โปรดถามมายังข้าพเจ้าและเมื่อได้ยินผู้ที่ แย้งด้วยเหตุใดแล้ว ก็ขอได้โปรดถามผู้แย้งว่าเหตุผลนั้นเป็นของเขาเองหรือเป็นเหตุผลที่เขา ได้ยินจากปากตลาดอย่างใด พร้อมทั้งสอบถามถึงเอกสารอันเป็นหลักฐานใด ๆ ซึ่งผู้แย้งได้อ่านหรือได้พบ แล้วโปรดแจ้งมายังข้าพเจ้าด้วย

การอ่านคำชี้แจงนี้ ไม่ใช่ต้องการว่าผู้มีปริญญาจึงจะวินิจฉัยได้ แม้ผู้ไม่ได้ปริญญา ถ้าค้นคว้าสืบสวนจริง ไม่เชื่อแต่ข่าวเล่าลือก็วินิจฉันได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ค้นคว้าสืบความจริง

หมวดที่ ๑

ประกาศของคณะราษฎร

หลักข้อ ๓. ของคณะราษฎร

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ประกาศต่อประชาชนถึงวัตถุที่ประสงค์คือหลัก ๖ ประการ หลักซึ่งเกี่ยวข้องแก่เศรษฐกิจของประเทศมีความว่า

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยาก”

รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย

ความข้อนี้ย่อมฝังอยู่ในใจประชาชนถ้วนหน้าและจะจารึกลงในประวัติของการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ายังคงยืนยันความข้อนี้อยู่เสมอและเห็นว่าถ้ารัฐบาลได้จัดวางโครงการ เศรษฐกิจแห่งชาติให้เหมาะสมแล้ว การหางานให้ราษฎรทุกคนทำไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยากนั้น ย่อมเป็นทางที่รัฐบาลจะทำได้หาใช่เป็นการสุดวิสัยไม่ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้เป็นจุดประสงค์อันใหญ่ยิ่งของข้าพเจ้า ในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎรได้มี ส่วนมีเสียงในการปกครองให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้นเข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสมบูรณ์มิใช่นำ ให้ราษฎรเดินถอยหลังเข้าคลอง ด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งรับหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎรที่จะต้องจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรนั้น

หมวดที่ ๒

ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ความแร้นแค้นของราษฎร

ผู้ที่มีจิตเป็นมนุษย์ประกอบด้วยเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อเห็นสภาพชาวนาในชนบทก็ดี เห็นคนยากจนอนาถาในพระนครก็ดี ก็จะปรากฏความสมเพชเวทนาขึ้นในทันใด ท่านคงจะเห็นว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตของบุคคลเหล่านี้แร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทานพรุ่งนี้และวันต่อไปจะยังคงมีหรือขาดแคลนก็ยัง ทราบไม่ได้ อนาคตย่อมไม่แน่วแน่เมื่อท่านปลงสังขารต่อไปว่าชีวิตของเรานี้ย่อมชรา ย่อมเจ็บป่วย ก็แหละเมื่อบุคคลเข้าอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะยังคงมีอาหารรับประทานอีกหรือ เพราะแม้แต่กำลังวังชาจะแข็งแรงก็ยังขาดแคลนอยู่แล้ว

คนมั่งมี, คนชั้นกลาง, คนยากจน ก็อาจแร้นแค้น

ความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำรงชีวิตนี้ มิใช่จะมีแต่ในหมู่ราษฎรที่ยากจนเท่านั้น คนชั้นกลางก็ดี คนมั่งมีก็ดี ย่อมจะต้องประสพความไม่เที่ยงแท้ด้วยกันทุกรูปทุกนาม ขอให้คิดว่าเงินทองที่ท่านหามาได้ในเวลานี้ท่านคงจะเก็บเงินนั้นไว้ได้ จนกว่าชีวิตของท่านจะหาไม่ และอยู่ตลอดสืบไปถึงบุตรหลานเหลนของท่านได้หรือ ตัวอย่างมีอยู่มากหลาย ที่ท่านคงพบคงเห็นว่าคนมั่งมีในสมัยหนึ่งต้องกลับเป็นคนยากจนในอีกสมัยหนึ่ง หรือมรดกที่ตกทอดไปถึงบุตรต้องละลายหายสูญ ไม่คงอยู่ตลอดชีวิตบุตร บุตรของผู้มั่งมีกลับตกเป็นคนยากจน เช่นนี้ท่านก็จะได้เห็นแล้วว่า เงินนั้นไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ อันจะเป็นประกันการดำรงชีวิตของท่านได้ท่านจะรู้แน่หรือว่า สังขารของท่านจะยังคงแข็งแรงทำงานได้ตลอดชีวิต ถ้าท่านป่วยหรือพิการอย่างใดขึ้น ท่านทำงานไม่ได้ท่านต้องใช้เงินของท่านที่มีอยู่แล้ว เงินนั้นย่อมสูญสิ้นหมดไปเช่นนี้แล้วท่านจะได้อาหารที่ไหนรับประทาน เพราะท่านป่วยหรือพิการทำงานไม่ได้ ท่านลองนึกว่าถ้าท่านตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร

หมวดที่ ๓

การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

ราษฎรทุกคนควรได้รับประกันจากรัฐบาล

ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้จึงมีนักปราชญ์คิดแก้โดยวิธี ให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) กล่าวคือราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดีราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตเมื่อรัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้วราษฎรทุกคนจะนอนตา หลับเพราะตนไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเจ็บป่วยหรือพิการหรือชราแล้วจะต้องอดอยาก หรือเมื่อตนมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยในบุตรเมื่อตนได้สิ้นชีพไปแล้วว่าบุตรจะ อดอยากหรือหาไม่ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยงแท้ดั่งได้พรรณนามาแล้ว

บริษัทเอกชนทำไม่ได้

การประกันเช่นนี้ เป็นการเหลือวิสัยที่บริษัทเอกชนจะพึงทำได้ หรือถ้าทำได้ราษฎรก็จะต้องเสียเบี้ยประกันภัยแพงจึงจะคุ้ม ราษฎรจะเอาเงินที่ไหนมาการประกันเช่นนี้จะทำได้ก็แต่โดย “รัฐบาล” เท่านั้น เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง รัฐบาลอาจจัดหาสิ่งอื่นแทนเบี้ยประกันภัยได้ เช่น จัดให้แรงงานของราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อมเป็นจำนวนหนึ่งคนหนึ่งวันละเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งราษฎรไม่รู้สึก ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ราษฎร

ความคิดที่จะให้รัฐบาลได้มีประกันเช่นนี้แก่ราษฎรในต่างประเทศนับวันแต่จะ เจริญขึ้นเป็นลำดับ ในการที่จะจัดให้รัฐบาลได้มีประกันแก่ราษฎรเช่นนี้ ก็ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคน เป็นจำนวนพอกับที่ราษฎรจะนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนต้องการในการ ดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ได้ตามสภาพ (ดูร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อไปข้างท้าย)

ราษฎรไทยชอบเป็นข้าราชการ

การจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรทั่วหน้านี้ เห็นว่าถูกต้องต่อนิสัยของราษฎรไทยโดยแท้ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าทุก ๆ คนชอบทำราชการ ชอบมีเงินเดือน แต่กระนั้นก็ยังมีข้าราชการบางคนเที่ยวป่าวประกาศและป้องกันกีดขวางไม่อยาก ให้ราษฎรได้ทำราชการบ้าง ทั้ง ๆ ผู้นั้นเองก็เป็นข้าราชการมีเงินเดือนก็เมื่อรัฐบาลต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ ราษฎรเช่นนี้ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

เงินเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ ขอเตือนให้ระลึกเสียก่อนว่าเงินเป็นสิ่งที่รับประทานไม่ได้ เงินย่อมเป็นสิ่งที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ

การจ่ายเงินเท่ากับการจ่ายอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ขอให้ระลึกว่าเงินที่ท่านหาได้ ท่านนำเอาเงินนั้นไปทำไม ท่านก็นำเอาไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เหตุฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบเงินว่าเป็นคะแนนชนิดหนึ่งก็ไม่ผิด การจ่ายเงินเดือนก็เท่ากับการจ่ายคะแนนให้ราษฎรที่จะจับจ่ายแลกเปลี่ยนกับ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎร

ผลที่สุดราษฎรจะพึงได้รับ ก็คือปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เช่น อาหาร , เครื่องนุ่งห่ม, สถานที่อยู่ ฯลฯ

รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์ของผู้มั่งมี

ฉะนั้น ในการจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรนั้น รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์ ของผู้มั่งมีมาจ่าย รัฐบาลอาจจัดให้มีปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต โดยจัดให้มีสหกรณ์ให้พร้อมบริบูรณ์เพื่อรับแลกกับเงินเดือน ซึ่งรัฐบาลจ่ายให้แก่ราษฎรเป็นการหักกลบลบหนี้กันไป เช่นราษฎรคนหนึ่งได้เงินเดือน ๒๐ บาท

การหักกลบลบหนี้

และราษฎรต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นจำนวน ๒๐ บาท ดังนี้แล้ว เงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ราษฎรไปก็กลับมาตกเป็นของรัฐบาลอีก เงินที่คงตกแก่ราษฎรก็ต่อเมื่อราษฎรต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นจำนวนราคาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ตนได้รับเงินที่ตกอยู่ในมือของราษฎรนี้ เท่านั้น ที่รัฐบาลจะต้องจัดหาทุนสำรองตามประเพณีนิยมของโลก เช่น ทองคำหรือเนื้อเงินหรือถ้าจะไม่ต้องออกธนบัตรให้มาก ซึ่งต้องการทุนสำรองมาก รัฐบาลอาจจัดให้มีธนาคารแห่งชาติอันเป็นที่เชื่อถือได้ซึ่งราษฎรจะได้นำเงิน มาฝาก และการจับจ่ายก็ใช้เช็คและวิธีหักกลบลบหนี้ (Clearing) ดังนี้ธนบัตรที่จะออกใช้หมุนเวียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนมากมาย

รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเอง

ฉะนั้น การที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่าย เงินเดือนให้แก่ราษฎรแล้วก็จำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลจะต้องจัดให้มีสหกรณ์เป็น ผู้ทำสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต และเป็นผู้จำหน่ายสิ่งเหล่านี้เสียเอง ถ้ารัฐบาลไม่จัดให้มีสหกรณ์เป็นผู้จัดทำและจำหน่ายปัจจัยเหล่านี้เสียเอง หรือเป็นผู้ควบคุมแล้ว รัฐบาลจะประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรได้อย่างไร รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นเดือนให้แก่ราษฎร

การประกอบเศรษฐกิจใด ๆ ย่อมต้องอาศัย

๑. ที่ดิน ซึ่งรวมถึงทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดินและซึ่งอยู่บนพื้นดินและใต้ดิน

๒. แรงงาน

๓. เงินทุน

ราษฎรไม่มีที่ดินและเงินทุนพอ

ราษฎรในเวลานี้ต่างคนมีที่ดินและเงินทุนเพียงพออยู่แล้วหรือ เราจะเห็นได้ว่า ๙๙% ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบการเศรษฐกิจแต่ลำพังให้ถูก ต้องครบถ้วนหรือไม่ ราษฎรต่างก็มีแรงงานประจำตนของตนแรงงานนี้ตนจะเอาไปทำอะไร เมื่อตนไม่มีที่ดินและเงินทุนเพียงพอ

ที่ดิน, แรงงาน, เงินทุนของประเทศ

แต่ถ้าจะพิจารณาถึงที่ดิน แรงงาน เงินทุนของราษฎรรวมกันแล้วจะเห็นได้ว่า ในประเทศสยามมีที่ดินถึง ๕ แสนตารางกิโลเมตรเศษ (คิดเป็นไร่ได้กว่า ๓๒๐ ล้านไร่) บนพื้นดินอุดมไปด้วยต้นไม้และพืชผักที่จะปลูกปัก ในใต้ดินนั้นอุดมไปด้วยแร่โลหะธาตุทั้งหลาย มีพลเมืองถึง ๑๑ ล้านคนเศษ ส่วนเงินทุนนั้นเล่าแม้เราจะยังไม่มีมากมาย แต่ประเทศสยามไม่ใช่ป่าเถื่อนเสียทีเดียวทรัพย์สินและชื่อเสียงของประเทศที่ ได้มีอยู่ก็อาจเป็นทางที่หาเงินมาได้บ้างโดยนโยบายการคลัง อันไม่ทำเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร

หมวดที่ ๔

แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก

น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเราอันอุดมอยู่แล้วนี้ ยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะการประกอบเศรษฐกิจตามทำนองที่เอกชนต่างคนต่างทำดังที่เป็นมา แล้ว ทำให้แรงงานสูญสิ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง แรงงานต้องใช้เปลืองไปโดยใช่เหตุบ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลก (Social Parasite) บ้างดั่งจะได้พรรณนาต่อไปนี้

บทที่ ๑

แรงงานเสียไปโดยมิได้ใช้ให้เต็มที่

แรงงานสูญ ๔๐%

จะเห็นได้ว่าชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศสยาม ทำนาปีหนึ่งคนหนึ่งไม่เกิน ๖ เดือน (รวมทั้งไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก ๖ เดือน ซึ่งต้องสูญสิ้นไปถ้าหากเวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้ราษฎรมีทางใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการประกอบเศรษฐกิจได้แล้ว ความสมบูรณ์ของราษฎรก็ย่อมเพิ่มขึ้นได้ ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้รับคำชี้แจงจากผู้สนใจในการเศรษฐกิจว่าการที่แก้ไขให้ ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้ อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีอยู่ก็แต่รัฐบาลที่จะกำหนดวางแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติให้ ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้เป็นประโยชน์

บทที่ ๒

แรงงานเสียไปเพราะจัดการเศรษฐกิจไม่เหมาะ

แรงงานเปลือง โดยแยกกันทำ

แม้แรงงานที่ใช้ในการประกอบเศรษฐกิจ ในระหว่าง ๖ เดือนก็ดี แรงงานเหล่านั้นยังเปลืองไปโดยใช่เหตุเพราะเอกชนต่างคนต่างทำ เช่น ชาวนาที่ต่างแยกกันทำเป็นราย ๆ ไปดั่งนี้ แรงงานย่อมเปลืองมากกว่าการรวมกันทำ ชาวนารายหนึ่งย่อมเลี้ยงกระบือของตนเอง ไถ หว่าน เกี่ยว ของตนเอง (ยกเว้นแต่มีการลงแขกเป็นบางครั้งคราว) ต้องหาอาหารเองแต่ถ้าหากชาวนารวมกันทำก็อาจประหยัดแรงงานลงได้ เช่น กระบือหนึ่งตัว ชาวนาที่แยกกันทำจะต้องเลี้ยงเอง ถ้ารวมกันหลาย ๆ ชาวนาก็มีกระบือหลาย ๆ ตัวแล้ว กระบือนั้นก็อาจรวมกันเลี้ยงและใช้คนเลี้ยงรวมกันได้ เป็นการประหยัดแรงงานได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นการบ้าน เช่น การหาอาหารก็จะรวมกันทำได้เหมือนดั่งเช่นสโมสรหรือร้านจำหน่ายอาหาร ที่วันหนึ่ง ๆ มีคนมารับประทานอาหารหลายสิบคน และอาจใช้คนปรุงอาหารเพียงคนเดียวหรือสองคนก็ได้ ดั่งนี้แรงงานในการทำอาหารในการเลี้ยงกระบือ ฯลฯ นั้น เมื่อชาวนารวมกันทำแล้ว ก็จะประหยัดได้อีกมากและแรงงานที่ยังเหลืออยู่ก็จะนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ใน การประกอบเศรษฐกิจที่เรายังขาดอยู่ ก็ถ้าหากปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำอยู่เช่นนี้ตลอดไปแล้ว การประหยัดแรงงานย่อมจะมีไม่ได้

บทที่ ๓

แรงงานที่เสียไปโดยไม่ใช้เครื่องจักรกล

แรงงานเสียโดยใช้วิธีป่าเถื่อน

เรื่องนี้ย่อมทราบกันอยู่ดีแล้วว่า การทำนาของเราได้ใช้วิธีไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ เหล่านี้ โดยแรงคนและสัตว์ พาหนะ จริงอยู่วิธีทำด้วยแรงคนและสัตว์พาหนะนี้ย่อมเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งในสมัย ป่าเถื่อน และในสมัยที่เครื่องจักรกล ยังมิได้คิดขึ้นในเวลานั้น แต่ถ้าหากให้ผู้ชำนาญการจักรกลปรับปรุงเครื่องจักรกลให้เหมาะสมแก่ ภูมิประเทศแล้ว (ซึ่งสามารถเป็นได้เพราะวิทยาศาสตร์ใด ๆ ในโลกที่จะไม่สามารถทำนั้นไม่มี เว้นแต่จะไม่ได้สนใจกันเท่านั้น) และเป็นธรรมดาของการเศรษฐกิจเมื่อมีเครื่องจักรกล แรงงานก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้มาก

ผลดีของเครื่องจักรกล

เช่นการไถที่ได้ทดลองทำกันในเวลานี้ก็ย่อมเห็นได้ชัดแล้วว่า เครื่องไถนาเครื่องหนึ่งซึ่งใช้คนสองคนอาจทำการไถได้ในฤดูกาลหนึ่งหลายพัน ไร่ คนไทยเป็นผู้ที่มีร่างกายเล็กและแข็งแรงน้อยกว่าคนจีนหรือฝรั่ง ทำการเศรษฐกิจใดถ้าอาศัยกำลังคนแล้ว เราจะสู้คนจีนหรือคนฝรั่งไม่ได้เราจะสู้เขาได้ก็ต่อเมื่อใช้เครื่องจักรกล การหาเครื่องจักรกลมาใช้นี้ชาวนาทุก ๆ คนสามารถมีเครื่องจักรกลได้หรือชาวนามีทุนพอที่จะซื้อหรือเป็นการจริงที่ เอกชนบางคนย่อมหามาได้ เพราะมีเงินทุนไม่จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาล แต่ให้พึงระวังว่าเครื่องจักรกลย่อมมีคุณอนันต์และโทษมหันต์เหมือนกัน การที่ในต่างประเทศมีคนไม่มีงานทำมากขึ้นทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเครื่องจักรกลที่มีขึ้นแทนแรงงานของคนหรือเครื่องจักรกลเมื่อมี มาก คนไม่มีงานทำย่อมมากขึ้น

ผลรับของเครื่องจักรกล

สมมติว่า โรงทอผ้าซึ่งแต่เดิมเป็นโรงที่ทำด้วยมือใช้คนงานพันคน เมื่อโรงทอผ้านั้นเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลต้องการคนงานเพียงร้อยคนเช่นนี้ แล้ว คนอีก ๙๐๐ คนก็จะต้องออกจากโรงงานนั้น กลายเป็นคนไม่มีงานทำ แต่ทั้งนี้จะโทษเครื่องจักรกลมิได้ เพราะเครื่องจักรกลเป็นสิ่งที่ช่วยมนุษย์มิให้ต้องทรมาน การที่มีคนไม่มีงานทำเพราะโรงงานได้เปลี่ยนใช้เครื่องจักรกลนั้น เป็นโดยเหตุที่เอกชนต่างคนต่างทำ และเป็นธรรมดาอยู่เอง ซึ่งเมื่อโรงงานต้องการคนงาน ๑๐๐ คน คนงานเหลืออีก ๙๐๐ เจ้าของโรงงานมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องจ่ายเอาไว้ให้เปลืองเปล่า ๆ และคนอีก ๙๐๐ คนนี้จะไปหางานที่ไหนทำถ้าโรงงานต่าง ๆ หรือการกสิกรรมต่าง ๆ ได้ใช้เครื่องจักรกลไปทั้งนั้น คนที่ไม่มีงานทำจะมีจำนวนมาก ผลสุดท้ายความหายนะก็จะมาสู่ แต่ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองแล้ว ก็มีแต่ผลดีอย่างเดียวที่จะได้รับจากเครื่องจักรกล

รัฐบาลทำเองจะได้รับแต่ผลดีของเครื่องจักรกล

สมมุติว่าโรงงานทอผ้าตามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วซึ่งเปลี่ยนใช้เครื่องจักรกล มีคนงานที่ต้องออกจากโรงงานนั้น ๙๐๐ คน รัฐบาลอาจรับคนเหล่านี้ไปทำในโรงงานอื่นที่จะตั้งขึ้นใหม่ เช่น โรงงานทำไหม โรงทำน้ำตาล หรือสร้างถนนหนทางก่นสร้างป่าเพื่อทำการเพราะปลูก ฯลฯ และสมมุติว่าโรงงานและการประกอบเศรษฐกิจต่าง ๆ มีอยู่พร้อมบูรณ์เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องขยายต่อไปแล้ว ก็ลดเวลาทำงานของคนงานลง เช่นเดิมทำวันละ ๘ ชั่วโมง เมื่อเครื่องจักรกลมีมากขึ้นคนงานก็ลดชั่งโมงทำงานลง เช่นเหลือวันละ ๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ ชั่วโมงดั่งนี้โดยไม่ต้องลดเงินเดือนของคนงาน ด้วยวิธีนี้ก็จะได้รับผลดีจากเครื่องจักรกลคือลดความทรมานร่างกายของมนุษย์ ได้มากขึ้น จริงอยู่การที่เอกชนเจ้าของโรงงาน เอกชนอาจลดเวลาทำงานได้ แต่การลดเวลาทำงานนั้นเอกชนย่อมลดค่าจ้างลงด้วย ยิ่งกว่านั้นถ้าจำนวนคนไม่มีงานทำมีมากกว่างานที่จะมีให้ทำแล้วค่าจ้างก็ลด ลงเป็นธรรมดา และเป็นกฎแห่งการเศรษฐกิจผลร้ายจะตกอยู่ที่ราษฎรและเครื่องจักรกลจะเป็นสิ่ง ประหัตประหารราษฎร เมื่อไม่ต้องการประหัตประหารก็ไม่ต้องใช้เครื่องจักรกล เมื่อไม่ใช้เครื่องจักรกลความล้าหลังก็มีอยู่ตลอดไป

การหาทุนสะดวกว่าเครื่องจักรกล

การที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบกิจเสียเอง โดยจัดให้มีสหกรณ์นั้น นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องแรงงานแล้ว การหาทุนยังสะดวกยิ่งกว่าเอกชน เพราะรัฐบาลอาจวางนโยบายการคลัง เช่น การเก็บภาษีทางอ้อม (Indirect tax) ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันหนึ่งเล็กน้อย ซึ่งราษฎรไม่รู้สึกเดือดร้อนนักเมื่อรวมเป็นปีก็ได้เงินจำนวนมาก

ภาษีทางอ้อม

เช่นถ้าหากจะมีภาษีทางอ้อมใด ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันละ ๑ สตางค์ ในปีหนึ่งพลเมือง ๑๑ ล้านคนก็คงได้ ๔๐ ล้านบาทเศษ นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจที่จะอาศัยชื่อเสียงและทรัพย์สินของรัฐบาลจัดการกู้ เงินอันเป็นประกันดีกว่าเอกชนหรือรัฐบาล อาจตกลงกับต่างประเทศชื้อเครื่องจักรกลมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ราคาถูกและผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ ดังที่บางประเทศเคยทำได้ผลดี

บทที่ ๔

แรงงานที่เสียไป เพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก

พวกหนักโลกทำให้ถ่วงความเจริญ

ในประเทศสยามนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือตนเป็นผู้ไม่ประกอบการเศรษฐกิจหรือการใดให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยอาหารเครื่องนุ่งห่มสถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลจำพวกนี้นอกจากจะหนักโลกแล้ว ยังเป็นเหตุที่ทำให้ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นได้ เช่นในประเทศหนึ่งมีคนทำงาน ๑๐๐ คน ทำข้าวได้คนหนึ่ง ๑ ตันได้ข้าว ๑๐๐ ตัน แต่มีคนอาศัยกินอยู่เปล่า ๕๐ ตัน ราคาก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้เพราะข้าวมีจำนวนมากขึ้น บุคคลจำพวกนี้ถ้าปล่อยให้คงอยู่ตามปัจจุบันนี้ก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไป การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และปล่อยให้มีคนเกียจคร้านคอยอาศัยกันเช่นนี้ ผลเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดลง ไม่มีวิธีใดดีกว่ารัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้

หมวดที่ ๕

วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน, แรงงาน เงินทุน

หลักสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลไม่ต้องประหัตประหารคนมี

บทที่ ๑

การจัดหาที่ดินเจ้าของที่ดินเวลานี้ไม่ได้รับผลจากที่ดินเพียงพอ

เวลานี้ที่ดินซึ่งทำการเพาะปลูกได้ตกอยู่ในมือของเอกชน นอกนั้นเป็นที่ป่าจะต้องก่นสร้าง ที่ดินซึ่งอยู่ในมือเอกชนในเวลานี้ ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและค่าอากรหรือดอกเบี้ย เพราะชาวนาเวลานี้แทบกล่าวได้ว่า ๙๙% เป็นลูกหนี้เอาที่ดินไปจำนองหรือเป็นประกันต่อเจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เก็บดอกเบี้ยหรือต้นทุนไม่ได้ หรือผู้ที่มีนาให้เช่าเช่นนาในทุ่งรังสิตเป็นต้นเจ้าของนาแทนที่จะเก็บค่า เช่าได้กลับจำต้องออกเงินเสียค่านา เป็นการขาดทุนย่อยยับกันไปไม่ว่าคนมีหรือคนจน เจ้าของนาเป็นส่วนมากประสงค์ขายนาแม้จะต้องขาดทุนบ้าง หรือฝ่ายเจ้าหนี้ให้ชาวนายืมเงินก็อยากได้เงินของตนคืน การบังคับจำนองหรือนำเอาที่ดินออกขายทอดตลาดนั้น เวลานี้ราคาที่ดินก็ตกต่ำทั้งนี้เป็นผลที่การประกอบเศรษฐกิจ รัฐบาลปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ

ซื้อที่ดินคืน

เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาล จะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา ก็เชื่อว่าชาวนาเจ้าของที่ดินผู้รับจำนองทั้งหลายคงจะยินดีมิใช่น้อย เพราะการที่ตนยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดิน หรือยังยึดที่ดินไว้เป็นประกันมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว การซื้อที่ดินกลับคืนมานี้เป็นวิธีต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อที่ดิน

ในเวลานี้รัฐบาลไม่มีเงินจะซื้อที่ดินได้เพียงพอ แต่รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดินของตน ใบกู้นั้นรัฐบาลจะได้กำหนดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินในขณะที่ ซื้อ ซึ่งไม่เกินร้อยละ ๑๕ อันเป็นอัตราสูงสุดในกฎหมาย เช่นที่ดินราคาพันบาท เจ้าของที่ดินก็ถือใบกู้เป็นราคาพันบาทและสมมุติว่าดอกเบี้ยในขณะนั้นร้อยละ ๗ เจ้าของที่ดินก็ได้ดอกเบี้ยปีละ ๗๐ บาทเป็นต้น ดั่งนี้เป็นการได้ที่แน่นอนยิ่งกว่าการให้เช่า หรือการทำเองทั้งนี้ก็เท่ากับเจ้าของที่ดินแทนที่จะถือโฉนดหรือหนังสือสำคัญ สำหรับที่ดินบอกจำนวนที่ดินเจ้าของที่ดินถือใบกู้ของรัฐบาลบอกจำนวนเงินที่ รัฐบาลเป็นลูกหนี้

ที่ดินชนิดใดบ้างที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืน

ที่ดินที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืนนี้ ก็คือที่ดินที่จะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ เช่นที่นา หรือไร่ เป็นต้น ส่วนที่บ้านอยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้อคืนเว้นไว้แต่เจ้าของ ประสงค์จะขายแลกกับใบกู้ การจัดให้มีบ้านสำหรับครอบครัว (Homestead) ซึ่งเมื่อคิดเทียบกับเนื้อที่ทั้งหมดในประเทศแล้ว ไม่มีจำนวนมากมายที่จะเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินเศรษฐกิจ เหตุฉะนี้จะยังคงให้มีอยู่ได้ก็ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใด

เมื่อที่ดินได้กลับมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะได้กำหนดลงไปให้ถนัดว่า การประกอบเศรษฐกิจในที่ดินนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร และจะต้องใช้เครื่องจักรกลชนิดใดเป็นจำนวนเท่าใด การทดน้ำจะต้องขุดหรือทำคันนาอย่างไร ในเวลานี้ที่ดินที่แยกย้ายอยู่ในระหว่างเจ้าของต่าง ๆ นั้น ต่างเจ้าของก็ทำคูทำคันนาของตน แต่เมื่อที่ดินตกเป็นของรัฐบาลดังนี้แล้ว ถ้ามีที่ที่มีระดับเดียวกัน ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก เช่นการทำคูทำคันนาอาจจะทำน้อยลงก็ได้ นอกจากนั้นการใช้เครื่องจักรกล เช่นการไถก็จะได้ดำเนินติดต่อกัน มิฉะนั้นจะต้องไถที่นี่แห่งหนึ่งที่โน่นแห่งหนึ่ง เป็นการชักช้าเสียเวลา และการบำรุงที่ดินโดยวิชาเทคนิคย่อมจะทำได้สะดวก เราจะเห็นได้ว่าในเวลานี้ราษฎรยังหลงเชื่อในวิธีโบราณ แม้ผู้ชำนาญการกสิกรรมจะพร่ำสอนก็ต้องกินเวลาอีกนาน เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอง รัฐบาลอาจกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ ราษฎรซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐบาลก็ต้องประพฤติตาม

ความรักในที่ดิน

ในตำราเศรษฐกิจวิทยาซึ่งผู้แต่งนิยมในลัทธิที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และพวกรัฐบาลที่กลัวว่ารัฐบาลจะถูกโค่นโดยการที่ราษฎรรวมกันทำงานมาก ๆ แล้ว เกรงจะเป็นภัยต่อรัฐบาลนั้น มักจะเสี้ยมสอนว่าการที่รัฐบาลจะมีที่ดินเสียเองแล้วจะทำให้ราษฎรไม่มีการ รู้สึกรักในที่ดินเหมือนกับที่ราษฎรได้เป็นเจ้าของที่ดินนั้นเองการบำรุงจะ ไม่เกิดผล คำกล่าวเช่นนี้เปรียบเหมือนผู้กล่าวหลับตาพูด การที่เพาะราษฎรให้รักที่ดินอันเป็นส่วนตัวนั้น พูดตามหลักปรัชญาแล้ว ก็เนื่องมาจากความคิดที่รักตัว (Egoism) กล่าวคือ ให้รักตนของตน ให้รักทรัพย์ของตน ดั่งนี้ย่อมเป็นการตรงกันข้ามกับการที่เพาะให้รักชาติ รักผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ร่วมชาติ (Alruism) มีผู้พูดถึงการรักชาติเสมอ ก็การที่เพาะให้รักตัวให้รักทรัพย์สินของตัวนี้ มิเป็นการตรงกันข้ามกับการที่ว่ารักชาติหรือ ข้าพเจ้าสงสัยนักว่าผู้ที่อ้างว่ารักชาติแต่เที่ยวสั่งสอนให้รักตัวเองด้วย เช่นนี้ จะรักชาติจริงแต่ปากและน้ำใจจะรักชาติจริงหรือไม่ อนึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เพื่อจะไม่ตัดความรู้สึกในครอบครัวของราษฎร รัฐบาลก็ยอมให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่อยู่แล้ว ก็ควรจะมีความรักในที่ดินอันเป็นของตนเพียงพออยู่แล้ว เวลานี้ขอให้สังเกตเช่นในกรุงเทพฯ มีผู้ที่เช่าที่ดิน หรือเช่าบ้านเขาอยู่ หรือเช่าห้องแถวเขาอยู่เป็นจำนวนมากมายก่ายกอง พวกนั้นมีที่ดินที่ไหนที่เขาจะรัก และถ้าถือหลักว่าคนต้องมีที่ดินจึงจะรักชาติแล้ว ก็คนที่เช่าบ้านเขาอยู่นั้นมิเป็นผู้ที่รักชาติหรือ? ข้าพเจ้ามิเชื่อเลยว่าพวกที่เช่าบ้านเขาอยู่นั้นจะเป็นผู้ที่ไม่รักชาติไป ทั้งหมด ความจริงผู้ที่มีที่ดินอยู่มากนั้นแหละ บางคนที่จะตกลงในแผนเศรษฐกิจใด ๆ ก็นึกพะวงแต่ที่ดินของตน ขอให้ผู้อ่านสังเกตและเปรียบเทียบให้ดีและมองดูรอบ ๆ ข้างของท่าน และสังเกตดูบุคคลเหล่านั้นว่าคนที่มีที่ดินรักชาติยิ่งกว่าคนที่ไม่มีที่ดิน หรือ? อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าก็จะตัดสินให้ว่ามีความรักชาติเท่ากัน เหตุฉะนั้นการที่มีที่ดินและไม่มีที่ดิน ไม่ใช่เป็นเหตุที่ให้เกิดความรักชาติยิ่งหย่อนอย่างที่คิดเลย

ส่วนข้อที่ว่าผู้ที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของที่ดินจะไม่ตั้งใจบำรุงที่ดินนั้น เห็นว่าการเป็นไปไม่ได้ ก็เมื่อที่ดินรัฐบาลกลับซื้อเอามาเป็นของกลางก็เท่ากับว่าราษฎรทั้งหมดเป็น เจ้าของที่ดินเหมือนบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นมาก ๆ และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เช่นนี้ บริษัทนั้นมิจะบำรุงที่ดินของเขาดอกหรือ? เรากลับจะเห็นเป็นการตรงกันข้ามที่บริษัทที่มีที่ดินกลับจะบำรุงที่ดินของ เขาดีกว่าเอกชนมีที่ดินเสียอีก เวลานี้เรามีผู้ชำนาญการกสิกรรม เป็นข้าราชการคอยดูแลแนะนำในการบำรุงที่ดินต่อไปเมื่อที่ดินเป็นของรัฐบาล เราก็คงมีข้าราชการที่เป็นผู้ชำนาญในการกสิกรรมที่จะตรวจตราบำรุงที่ดินด้วย อาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ เหมือนดั่งที่ข้าราชการกสิกรรมในเวลานี้ ถ้าหากว่าจะกล่าวว่าที่ดินจะไม่ได้รับการบำรุงขึ้นนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการพูดอย่างดูหมิ่นข้าราชการผู้ชำนาญการกสิกรรมโดยมิ บังควร

ข้าพเจ้าเห็นเป็นการตรงข้ามที่ที่ดินจะได้รับความบำรุงดียิ่งขึ้น เช่น ในการทดน้ำ ในการปรับปรุงพื้นที่ดินและในการเพาะปลูกที่จะใช้เมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ยเหล่า นี้ ผู้ชำนาญการกสิกรรมจะได้ใช้วิชาความรู้ความสามารถของเขาเต็มที่ไม่เหมือนกับ ปัจจุบัน แม้ผู้ชำนาญจะพร่ำสอนสักเท่าใด ๆ ราษฎรก็ไม่ใครจะเชื่อเพราะนิยมอยู่ในแบบโบราณไม่เบิกหูเบิกตา

ราษฎรที่ปราศจากที่ดินในการทำกสิกรรมก็ยังเป็นข้าราชการซึ่งอาจสมัครทำการ กสิกรรมตามเดิมหรือถ้างานกสิกรรมมีไม่พอ ก็สมัครทำงานอื่นได้ คงมีอาหารกิน มีสถานที่อยู่ ฯลฯ ไม่เดือดร้อนอันใดยิ่งไปกว่าที่ประกอบกสิกรรม แต่กลับจะได้รับความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง

ขอให้เปรียบเทียบกับข้าราชการในปัจจุบันนี้ ส่วนมากตระกูลของพวกนี้เดิมทีเดียวก็ทำกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ และผู้นั้นต้องละที่นาของตระกูลเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมืองเช่นนี้ ข้าราชการผู้นั้นทำไมจึงละที่ดินเช่นนั้น และข้าราชการเหล่านี้จะมิรักชาติน้อยกว่าชาวนามีที่ดินหรือ ถ้าหากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรละที่นาของเขามา ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อวาจะเป็นไปตามคำกล่าวหานั้นไม่ได้

ระวังคำล่อลวงของบุคคลบางจำพวก

เท่าที่ได้พิจารณาคำกล่าวหาของบุคคลจำพวก ที่ต้องการให้เอกชนที่มีนาอยู่นั้น มูลเหตุแห่งคำกล่าวนี้เนื่องจากผู้ที่ถือลัทธิที่นิยมให้เอกชนต่างคนต่างทำ และเสแสร้งเหตุผลสนับสนุนซึ่งล่อใจเอกชนให้มีทรัพย์คล้ายเป็นการให้สินบนโดย ทางอ้อม ๆ และพวกรัฐบาลที่ขวัญหนีดีฝ่อ ในการที่ราษฎรจะละที่นามาสมัครทำงานในการอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งราษฎรต้องอยู่รวมกันเป็นส่วนมาก ๆ และเกรงว่าถ้าราษฎรอยู่รวมกันเป็นส่วนมาก ๆ เช่นนี้จะเห็นการมิดีมิร้ายของตนหรือตนอ่อนแอไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ราษฎร ได้รับความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจได้ และเกรงว่าตนจะหลุดพ้นจากตำแหน่งซึ่งเป็นการหน่วงความเจริญโดยแท้ และพวกนี้เที่ยวป่าวร้องให้คนนิยมในเหตุผลของตน ซึ่งคนที่ไม่ตรึกตรองก็หลงเชื่อเอาได้ง่าย ๆ และป่าวร้องกันต่อๆ ไป

บทที่ ๒

การจัดหางาน

ข้าราชการบางคนเกียดกันไม่อยากให้ราษฎรเป็นข้าราชการ

นิสัยคนไทยชอบทำราชการ คือชอบสมัครเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล นิสัยเช่นนี้มีอยู่แน่ชัด แม้ในหมู่บุคคลที่คัดค้านว่ารัฐบาลไม่ควรทำอุตสาหกรรมเองก็ดี บุคคลเช่นนั้นก็เป็นข้าราชการเป็นส่วนมาก ตนเองหาได้เหลียวดูว่าในขณะที่ตนพูดอยู่นั้น ว่าตนเป็นข้าราชการหรือไม่ ตนคอยแต่เกียดกันผู้อื่นมิให้เป็นข้าราชการ ซึ่งผู้อื่นก็มีนิสัยของทำราชการเหมือนดั่งตน ฉะนั้นคารมของบุคคลจำพวกนี้ผู้อ่านควรระวังจงหนัก และจงย้อนถามผู้พูดนั้นเสมอว่าท่านเป็นข้าราชการหรือเปล่า เมื่อท่านเป็นข้าราชการแล้ว เหตุใดท่านเกียดกันราษฎรไม่ให้เป็นข้าราชการบ้างเล่า

รับราษฎรเป็นข้าราชการ

เมื่อนิสัยของคนไทยชอบทำราชการเช่นนี้แล้วไม่เป็นการยากอันใดที่จะรับคนไทย ทั้งหมดให้เข้าทำราชการ แต่การทำราชการไม่หมายความแต่การนั่งบัญชาการในสำนักงาน การประกอบเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำก็เรียกว่าราชการด้วย

ในการนี้รัฐบาลอาจกำหนดให้ราษฎรที่มีอายุเช่นตั้งแต่ ๑๘ ปีถึง ๕๕ ปี ต้องทำงานตามคุณวุฒิกำลังและความสามารถของตน ต่อจากนั้นขึ้นไปราษฎรผู้นั้นจะได้รับบำนาญจนตลอดชีวิต และในระหว่างที่ยังมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีก็ต้องเล่าเรียนและทำงานเล็กน้อยตามกำลัง ราษฎรจะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลหรือจากสหกรณ์เหมือนดั่งข้าราชการในทุกวัน นี้ เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิกำลังความสามารถ เพื่อที่ข้าราชการทั้งหลายจะได้ขะมักเขม้นต่างทำเต็มกำลังความสามารถของตน แต่อย่างไรก็ตามเงินเดือนขั้นต่ำที่สุดจะพอเพียงแก่การที่ข้าราชการผู้นั้น จะซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้

รัฐบาลจะบังคับให้ราษฎรทั้งหมดไปเป็นข้าราชการหรือ

รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องบังคับราษฎรทั้งหมดให้เป็นข้าราชการ

ยกเว้นเอกชนบางจำพวกที่ไม่ต้องรับข้าราชการ

รัฐบาลอาจยอมยกเว้นให้เอกชนที่เป็นคนมั่งมีอยู่แล้วในเวลานี้หรือผู้อื่น ซึ่งไม่ประสงค์เป็นข้าราชการประกอบการเศรษฐกิจของตนเอง เมื่อผู้นั้นแสดงได้ว่าการประกอบเศรษฐกิจตามลำพังของเขา เขาจะมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ตลอดแม้เจ็บป่วยหรือชราภาพ และสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรของเขาให้ได้รับการศึกษาและมีฐานะที่จะเลี้ยงตัว เอง ส่วนบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่เที่ยงแท้นั้นก็จำต้องเป็นข้าราชการ เพราะการทำข้าราชการนั้นก็เท่ากับได้ออกแรงงานสะสมไว้เป็นทุนสำรองในเวลา เจ็บป่วยหรือชราแล้ว

แต่เมื่อรัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียหมดเช่นนี้ ราษฎรที่เป็นเอกชนจะหาอาชีพตามลำพังได้อย่างไร?

อาชีพอิสระ

การประกอบเศรษฐกิจนั้นมีลักษณะการบางอย่างซึ่งเอกชนจะประกอบตามลำพังได้ผล เช่น การอาชีพอิสระ (Liberal Professional) เช่น นักประพันธ์ ทนายความ ช่างเขียน ครูในวิชาบางอย่าง ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อราษฎรใดประสงค์จะทำโดยลำพัง ไม่อยากเป็นข้าราชการแล้วก็อนุญาตให้ทำได้หรืออาชีพอื่น เช่น การโรงงานซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วในเวลานี้ เมื่อผู้นั้นประสงค์จะทำต่อไปโดยไม่อยากเป็นข้าราชการแล้ว ก็อนุญาตเช่นเดียวกัน นอกจากผู้นั้นจะขายให้แก่รัฐบาลและตนถือใบกู้ ได้ดอกเบี้ยจากรัฐบาลเลี้ยงชีพของตนหรือการพาณิชย์ การกสิกรรมบางอย่างเมื่อเอกชนแสดงได้ว่า การที่ตนจะประกอบได้ผลพอเลี้ยงตนแล้ว จะอนุญาตให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

ผลดีของการที่ราษฎรส่วนมากสมัครเป็นข้าราชการ

การที่ราษฎรส่วนมาก ได้สมัครเป็นข้าราชการเช่นนี้ ผลร้ายไม่มีอย่างใด รัฐบาลกลับจะได้ผลดี คือแรงงานของราษฎรจะได้ใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอด เช่น ในปีหนึ่งเมื่อหักวันเวลาซึ่งต้องหยุดพักผ่อนแล้ว ราษฎรจะได้ทำงานตลอดไป ข้อที่เราวิตกว่าชาวนามีเวลาว่างอีก ๖ เดือนนั้น ย่อมจะไม่ต้องวิตกอีกต่อไป รัฐบาลคงใช้เวลาอีก ๖ เดือนนั้นไว้เป็นประโยชน์ เช่นเมื่อว่างจากทำนา ก็อาจทำไร่อย่างอื่น หรือทำถนนหนทางสุดแต่แผนเศรษฐกิจแห่งชาติจะกำหนดไว้ นอกจากนั้นเมื่อถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลอาจบังคับให้ศึกษา ให้อบรมในศิลปวิทยาใด ๆ ให้รู้ในการฝึกหัดวิชาทหาร ซึ่งทุ่นเวลาที่จะต้องมารับราชการทหารได้อีกโสดหนึ่ง

บทที่ ๓

การจัดหาทุน

เงินทุนที่รัฐบาลจำต้องมีในการประกอบเศรษฐกิจนี้ มีอยู่ ๒ ชนิด

๑.เงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อซื้อเครื่องจักรและวัตถุที่รัฐบาลยังทำไม่ได้

๒.เงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่าแรงงาน

ความหมุนเวียนแห่งเงินทุน

เงินทุนประเภทที่ ๒ นี้ เป็นเงินที่หมุนเวียนและหักกลบลบหนี้ได้ เช่นราษฎรที่รับเงินเดือนก็นำเอาเงินเดือนซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่จากรัฐบาล ถ้าจำนวนเงินพอดีก็เป็นการหักกลบลบหนี้กันไป ถ้ายังมีเงินเหลืออยู่ในมือข้าราชการ เงินที่เหลือนี้แหละซึ่งรัฐบาลจำต้องหาทุนสำรองมาไว้ แต่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ถ้ารัฐบาลจัดให้มีธนาคารแห่งชาติแล้ว ข้าราชการก็จะได้นำเงินมาฝากธนาคาร เท่ากับข้าราชการเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลตามจำนวนที่ฝากนั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บธนบัตรไว้กับตนซึ่งอาจเป็นอันตรายเสียหายได้

ทุนทั้ง ๒ ประเภทนี้ รัฐบาลจะหาได้ด้วยวิธีไหน ตามวิธีที่กล่าวกันว่าเป็นวิธีคอมมิวนิสต์ นักปราชญ์ในสยามประเทศท่านว่าต้องริบทรัพย์ของเอกชน การริบทรัพย์นี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เห็นว่ารัฐบาลควรจัดหาทุนโดยทางอื่น วิธีจัดหาทุนคือ

ภาษีทางอ้อม

การเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีมรดก เช่นภาษีรายได้หรือภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันหนึ่งเล็กน้อย ซึ่งราษฎรไม่รู้สึกเดือดร้อนนัก เมื่อรวมเป็นปีก็ได้เงินเป็นจำนวนมาก เช่นถ้าหากจะมีภาษีทางอ้อมใด ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันละ ๑ สตางค์ ในปีหนึ่งพลเมือง ๑๑ ล้านคนก็คงได้ ๔๐ ล้านบาทเศษ ภาษีทางอ้อมนี้มีเป็นต้นว่า ภาษีเกลือซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จำหน่ายเอง เช่นรัฐบาลรับซื้อเกลือจากผู้ทำนาเกลือตามราคาที่กำหนดให้อย่างสมควร ครั้นแล้วรัฐบาลจำหน่ายเกลือแก่ผู้บริโภค ภาษีน้ำตาล ภาษีบุหรี่ ภาษีไม้ขีดไฟ ฯลฯ

ออกสลากกินแบ่ง

การออกสลากกินแบ่ง (ลอตเตอร์รี่) ซึ่งไม่เห็นมีทางผิดศีสธรรมอย่างใดจริงอยู่การออกสลากกินแบ่งเป็นการพนัน ผู้ถือสลากย่อมต้องเสียงโชค แต่การเสี่ยงของผู้ถือสลากนั้น ต้องเสียเงินเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย

กู้เงิน

การกู้เงินซึ่งอาจเป็นการกู้เงินภายใน ซึ่งรัฐบาลจะร่วมมือกับคนมั่งมีในเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการกู้โดยตรง หรือออกใบกู้สำหรับโรงงานโดยเฉพาะ เช่นถ้ารัฐบาลจะตั้งโรงทำน้ำตาล ต้องการทุน๑ ล้านบาท รัฐบาลออกใบกู้ทำน้ำตาล ๑ ล้านบาท ผู้ถือใบกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยตามกำหนด และได้ผลที่โรงงานนั้นทำได้หรือกู้จากต่างประเทศในเมื่อต่างประเทศยินดีให้ กู้ ความจริงการกู้เงินจากต่างประเทศก็ควรเอาเงินนั้นซื้อเครื่องจักรกลหรือ วัตถุที่เรายังทำไม่ได้ภายในประเทศ ไม่ควรนำเงินนั้นมาใช้จ่ายในประเทศ เมื่อตกลงใจเช่นนี้แล้ว ถ้าเรากู้เงินจากต่างประเทศไม่ได้ เราก็อาจตกลงซื้อเครื่องจักรกลโดยตรงจากบริษัทในต่างประเทศและผ่อนส่งเงิน เป็นงวด ๆ ดังเช่นบางประเทศเคยกระทำ

การหาเครดิต

สำหรับประเทศสยามเรา เห็นควรซื้อจากบริษัทในประเทศสหายเรา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เว้นไว้แต่จะไม่ยอมขายโดยผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ หรือราคาแพง อนึ่งรัฐบาลอาจตกลงกับบริษัทให้มาตั้งโรงงาน และรัฐบาลเอาโรงงานและผลประโยชน์ของโรงงานนั้นเป็นประกันหนี้ของบริษัท จนกว่าจะใช้เงินหมด วิธีต่าง ๆ เหล่านี้เป็นวิธีที่รัฐบาลสามารถทำได้ในเวลานี้ เพราะย่อมทราบแล้วว่า เวลานี้เครื่องจักรกลมีล้นตลาดในโลก บริษัทต่าง ๆ ต้องการขายสินค้าของตน แม้จะโดยวิธีผ่อนส่งเงินก็ดี

หมวดที่ ๖

การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ

เมื่อพูดถึงการที่รัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง โดยจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรเช่นนี้ ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้อ่านเสมอมาว่า รัฐบาลจะเข้าสู่ดุลยภาพได้อย่างไร ผลมิเป็นว่ารัฐบาลต้องล้มละลาย ราคาเงินของเราจะตกโดยที่รัฐบาลจะต้องออกธนบัตรมากมายกระนั้นหรือ

บทที่ ๑

ดุลยภาพภายในประเทศ

หักกลบลบหนี้

ข้าพเจ้าได้กล่าวประปรายไว้แล้วในตอนต้นว่า เงินเดือนที่ราษฎรได้รับก็จะหักกลบลบหนี้กันไปกับสิ่งที่ราษฎรซื้อจากรัฐบาล ฉะนั้น รัฐบาลจำต้องทำสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต ซึ่งราษฎรต้องการไว้ให้พร้อมบูรณ์ เมื่อราษฎรต้องการสิ่งใดก็ซื้อได้ที่รัฐบาลเช่นนี้แล้ว แม้ในเดือนหนึ่ง ๆ หรือในปีหนึ่ง ๆ จะมีเงินเหลืออยู่ราษฎร เงินนี้ราษฎรก็เก็บสะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในภายหน้า ซึ่งก็ต้องซื้อจากรัฐบาล ดุลยภาพก็คงต้องมีขึ้นภายในประเทศเป็นแน่แท้ นอกจากนั้นการทำให้สู่ดุลยภาพ ยังอาจกระทำได้ด้วยการกำหนดราคาสิ่งของที่จำหน่ายแต่วิธีนี้ไม่ควรใช้ รัฐบาลควรหาวิธีที่เพิ่มสิ่งที่ราษฎรต้องการให้มากขึ้น

ความต้องการของมนุษย์

ความต้องการของมนุษย์ในปัจจัยที่ดำรงชีวิตอาจมีแตกต่างกัน และยิ่งมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันกว้างขวางขึ้นและเจริญขึ้นแล้วความต้องการ ก็ยิ่งมีมากขึ้น ศาสตราจารย์ชาลส์ จี๊ด กล่าวไว้ว่า ที่เรียกกันว่าเจริญนั้นก็หมายความถึงว่าความต้องการของมนุษย์ได้มีมากขึ้น (คำสอนเศรษฐวิทยา เล่ม ๑ หน้า ๔๙) เช่นคนป่าต้องการเครื่องนุ่งห่มแต่พอปิดร่างกายบางส่วน ครั้นคนจำพวกนั้นเจริญขึ้นก็ต้องการเครื่องนุ่งห่มปิดบังร่างกายมากขึ้น ดังนี้เป็นต้น

การทำปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต

ฉันใดก็ดี เมื่อราษฎรสยามเจริญขึ้น ความต้องการก็ย่อมมีมากขึ้นตามส่วน เช่น เครื่องนุ่งห่ม ก็จะต้องการผ้าหรือแพรมากขึ้น สถานที่อยู่และภาชนะใช้สอยมากขึ้น การคมนาคมมากขึ้น เช่นต้องการรถยนต์ ต้องการเดินทางไกลติดต่อกับประเทศอื่น ต้องการพักผ่อน หาความเพลิดเพลิน เช่น การมหรศพ การกีฬาเหล่านี้เป็นต้น เมื่อรัฐบาลจัดให้มีสิ่งเหล่านี้พร้อมบูรณ์แล้ว เงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายก็จะกลับมายังรัฐบาล ซึ่งต้องสู่ดุลยภาพได้

บทที่ ๒

ดุลยภาพระหว่างประเทศ

รัฐบาลยังคงต้องเป็นลูกหนี้ต่างประเทศในการที่ซื้อเครื่องจักรและวัตถุที่รัฐบาลทำเองไม่ได้ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้เจ้าหนี้

ทำสิ่งที่เหลือใช้ภายในให้มาก

ในการนี้จึงเป็นการจำเป็นที่รัฐบาล จะต้องจัดทำสิ่งที่ทำได้ในประเทศให้เหลือเฟือ จากการใช้จ่ายภายในประเทศ และนำสิ่งที่เหลือนี้ออกไปจำหน่ายหักกลบลบหนี้ กับจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นลูกหนี้ เช่น ข้าว, ไม้สัก, แร่, เช่นนี้เป็นต้น

สินค้าเข้ามีสิ่งไม่จำเป็นมาก

ความจริงแม้แต่เอกชนต่างคนต่างทำ ในเวลานี้ประเทศสยามก็ยังมีสินค้าออกถึง ๑๓๔ ล้านบาท คือสินค้าที่เหลือใช้ภายในประเทศ แต่ประเทศสยามได้นำสินค้าอื่นซึ่งนอกจากเครื่องจักรเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่นของรับประทานน้ำตาล เสื้อผ้า เหล่านี้ ถ้าหากรัฐบาลจัดทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เองเสียให้เกือบหมดแล้วสินค้าออก ๑๓๔ ล้านบาทนี้ ก็จะใช้แลกเปลี่ยนกับเครื่องจักรกลซึ่งเรายังไม่สามารถที่จะทำได้ เราจะเห็นได้ว่าความเจริญของเราจะมีเพิ่มขึ้นสักปานใดนอกจากนั้นแรงงานที่ ว่างอยู่ ซึ่งรัฐบาลอาจใช้เป็นประโยชน์ได้อีกนั้นก็จะทำให้เรามีสินค้าที่เหลือจากใช้ ภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งกำลังของประเทศในการที่จะแลกเปลี่ยนเอาสิ่งซึ่งเรายังทำไม่ได้มากยิ่ง ขึ้นดุลยภาพระหว่างประเทศก็จะเป็นไปได้

หมวดที่ ๖

การจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์

ผู้ที่อ่านโดยมีอุปาทานร้ายมักจะเหมาทันทีว่าการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสีย เองนี้ จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์กล่าวคือ ผู้หญิงจะมิเป็นของกลางไปทั้งหมดหรือชีวิตในครอบครัวจะไม่มี คนจะหมดความมานะความพยายามในการที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญ คำกล่าวนี้ถ้าจะมีผู้กล่าวก็คงจะใส่ร้ายโดยไม่ตรึกตรอง

ราษฎรที่เป็นข้าราชการก็มีสภาพเหมือนข้าราชการทุกวันนี้

ความจริงเท่าที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้ถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการ มีฐานะเหมือนข้าราชการทุกวันนี้ที่ทำงานแล้วได้เงินเดือน และเมื่อเจ็บป่วยชราได้เบี้ยชำนาญ ข้าพเจ้าได้ระวังมิให้มนุษย์มีสภาพเช่นสัตว์ ข้าพเจ้าประสงค์ให้มนุษย์เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากเหตุเศรษฐกิจ ข้าพเจ้ายังเคารพต่อครอบครัวของผู้นั้น ผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง ความเกี่ยวพันในระหว่างผู้บุพการี เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดากับผู้สืบสันดาน เช่น บุตรหลาน ยังคงมีตามกฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ยกเลิก ราษฎรคงมีมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญเหมือนดั่งข้าราชการในทุกวันนี้ ถ้าหากราษฎรหมดมานะที่จะช่วยเหลือส่งเสริมความเจริญแล้วข้าราชการในทุกวัน นี้ก็จะมิเป็นบุคคลจำพวกที่หมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญหรือ

การค้นคว้าในวิชาการคงมีได้

อาจมีผู้กล่าวอีกว่า การค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์จะมีไม่ได้ ข้อนี้จะเป็นการกล่าวใส่ร้ายเกินไป นักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าได้เสมอ รัฐบาลจะมีรางวัลให้และจะยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐ์สิ่งใดได้ ไม่ต่างกับข้าราชการในปัจจุบันนี้อย่างไรเลย ขออย่าให้ผู้อ่านหลงเชื่อคำกล่าวที่ใส่ร้ายว่ามนุษย์เราจะต้องกินข้าวกะทะ อยู่ในรู ถ้าท่านถามผู้กล่าวว่า เขาอ่านหนังสือเล่มไหนที่กล่าวเช่นนั้น แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบจะเป็นพระคุณมาก

หมวดที่ ๗

การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์

รัฐบาลกลางคุมไม่ทั่วถึง

แม้ตามหลักรัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองก็ดี แต่ในประเทศที่กว้างขวางมีพลเมืองกว่า ๑๑ ล้านคน ดั่งประเทศสยามนี้ การประกอบเศรษฐกิจจะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเสียทั้งนั้นแล้วการควบคุมตรวจตรา อาจจะเป็นโดยทั่วถึงไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องแบ่งการประกอบเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์ต่าง ๆ

สมาชิกสหกรณ์ได้รับเงินเดือน

ในสหกรณ์หนึ่ง ๆ นั้น ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์นั้น ตามอัตรา และตนจำต้องทำงานตามกำลังความสามารถเว้นไว้แต่เจ็บป่วยหรือพิการ หรือชราก็จะได้รับเบี้ยบำนาญ

รางวัลพิเศษ

สหกรณ์นี้จะได้ประกอบการเศรษฐกิจตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เช่น สหกรณ์ในทางกสิกรรม ก็จะประกอบกสิกรรม เช่นการเพาะปลูกพืชพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และกระทำกิจการอื่นเมื่อมีแรงงานเหลืออยู่ เช่น การสร้างถนนหนทาง การสร้างบ้านและสถานที่ดินสหกรณ์นั้น ราษฎรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นอกจากจะได้รับเงินเดือนประจำตามอัตรา ยังคงได้รับเงินรางวัลพิเศษตามผลแห่งการที่สหกร์นั้นทำได้อีกสถานหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ไม่ว่าคนยากจน หรืออนาถาก็ย่อมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ ซึ่งต่างกับสหกรณ์ซึ่งรัฐบาลจัดอยู่ในปัจจุบันคือผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน เท่านั้นจึงจะเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้ ส่วนชาวนาที่ต้องเช่านาทำ อันมีจำนวนมากในเวลานี้ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นสมาชิกสหกรณ์

สหกรณ์จะมีอาณาเขตเท่าใด และจะมีสมาชิกสักเท่าใดนั้น ก็แล้วแต่สมาชิกของสหกรณ์ประการหนึ่ง เช่น สหกรณ์อุตสาหกรรมย่อมมีสมาชิกที่เป็นคนงานของอุตสาหกรรมนั้น ตามแต่อุตสาหกรรมจะใหญ่น้อยปานใด และสหกรณ์ในทางกสิกรรมก็สุดแท้แต่ความเหมาะสมแห่งการที่แบ่งเขตที่ดินที่จะ ประกอบกสิกรรมว่าจะควรเพียงใด และจะต้องใช้คนงานเท่าใดจึงจะควบคุมและใช้วิธีเทคนิคได้โดยสะดวก

ร่วมในกิจการต่าง ๆ

สหกรณ์เหล่านี้ ผู้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ย่อมร่วมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ:-

๑. ร่วมกันในการประดิษฐ์ (Production) โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง

๒. ร่วมกันในการจำหน่ายและขนส่ง (Circulation) กล่าวคือ ผลที่สหกรณ์ทำได้นั้นสหกรณ์ย่อมทำการขนส่งและจำหน่ายในความควบคุมของรัฐบาล

๓. ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคและบริโภค คือ สหกรณ์จะเป็นผู้จำหน่ายของอุปโภคและบริโภคแก่สมาชิกเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม แต่อาหารนั้นไม่จำเป็นที่สหกรณ์จะต้องทำอาหารสุกออกจำหน่าย สหกรณ์อาจจำหน่ายอาหารดิบ เช่น ข้าวสาร เนื้อดิบ เหล่านี้ให้สมาชิกซื้อไปจัดปรุงเองตามความชอบ แต่ถ้าสมาชิกต้องการความสะดวก จะซื้ออาหารที่สำเร็จแล้วจากสหกรณ์ก็ได้ตามใจสมัคร

๔. ร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่ คือสหกรณ์จะได้จัดสร้างสถานที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล สมาชิกครอบครัวหนึงก็จะมีบ้านอยู่หลังหนึ่งและปลูกตามแผนผังของสหกรณ์ ให้ถูกต้องตามอนามัย และสะดวกในการที่จะจัดการปกครองและระวังเหตุภยันตราย

เทศบาล สาธารณสุข การศึกษา การทหาร

เมื่อราษฎรได้รวมกันเป็นสหกรณ์ มีบ้านอยู่เป็นหมู่ด้วยกันแล้ว การจัดให้สหกรณ์ได้มีการปกครองตามแบบเทศบาล (Municipality) ย่อมทำได้สะดวกตลอดจนการอนามัยและสาธารณสุข เช่น สหกรณ์จะได้จัดให้มีแพทย์ออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษาอนามัย และการศึกษาอบรมหมู่คนก็ทำได้ง่าย เพราะสมาชิกอยู่ใกล้ ๆ กัน เมื่อเสร็จจากการทำงานวันหนึ่ง ๆ สหกรณ์อาจออกข้อบังคับให้มาเรียนหรืออบรม การเรียนอาจเป็นโดยวิธีหนังสือหรือวิธีแสดงภาพฉายภาพและการแสดงอื่น ๆ การระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายจะสะดวก นอกจากนี้ทางทหารอาจอาศัยสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะอบรมวิชาทหารบุคคลที่ ก่อนถูกเกณฑ์ทหาร หรือพวกกองเกินอัตรา (Military Preparation) การเกณฑ์ทหารการระดมพลเหล่านี้ ย่อมสะดวกด้วยประการทั้งปวง ฯลฯ

หมวดที่ ๘

รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ

ป้องกันการปิดประตูค้า

รัฐบาลจะต้องถือหลักว่า จะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น ซึ่งในที่สุดประเทศไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภยันตรายอันเกิดจากการปิดประตูการค้าได้ เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องการภายในประเทศครบถ้วนบริบูรณ์แล้วแม้จะต้องถูกปิด ประตูค้าก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ผู้ที่หลงเชื่อในลัทธิอาดามสมิทว่า ประเทศต่าง ๆ จะต้องแบ่งแยกการงานกัน ประเทศใดทำกสิกรรมก็ทำแต่กสิกรรม ไม่ต้องประกอบอุตสาหกรรมนั้น ความจริงเป็นหลักที่ดีในเมื่อประเทศต่าง ๆ สุจริตต่อกัน ไม่มีการปิดประตูค้าหรือกดราคาแกล้งกัน แต่ในปัจจุบันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

ความเห็นนักเศรษฐวิทยาเยอรมัน

เราจำต้องดำเนินตามหลักของนักเศรษฐวิทยาของเยอรมันผู้หนึ่ง ชื่อเฟรดอริคลิสต์ซึ่งแสดงความเห็นว่าเยอรมนีต้องทำตนให้เป็นรัฐบริบูรณ์ เสียก่อน กล่าวคือมีอุตสาหกรรม กสิกรรม ศิลปวิทยา ให้พร้อมบูรณ์และเมื่อได้เป็นเช่นนั้นแล้วจะมีการแข่งขันในระหว่างประเทศก็ ควร เยอรมนีได้เจริญขึ้นเพราะถือหลักนี้กันทั้งประเทศเยอรมนีเอง การที่รัฐบาลจัดทำได้ผลดีเพียงไร เช่น การรถไฟเป็นต้น และในปัจจุบันนี้เองประเทศเยอรมนี เห็นว่าบ้านเมืองจะสุขสมบูรณ์ได้ก็แต่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจ จึงได้มอบตำแหน่งรัฐบาลให้แก่ฮิตเลอร์ ซึ่งฮิตเลอร์เป็นผู้นิยมในลัทธิที่รัฐบาลจัดทำเศรษฐกิจ ของในอังกฤษมีท่านแมคโดนาล ในประเทศฝรั่งเศสมีท่านดาลาลิเอร์เป็นหัวหน้าในรัฐบาล ท่านเหล่านี้ดำเนินลัทธิอย่างไรก็ย่อมทราบกันอยู่แล้วว่าดำเนินลัทธิที่ ต้องการให้ราษฎรทำร่วมกันกับรัฐบาล และต้องการการประกันของรัฐบาล (Assurance Sociale) ไม่มากก็น้อย

หมวดที่ ๙

การป้องกันความยุ่งยาก ในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง

เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานทำให้ระส่ำระสาย

ถ้าประเทศสยามจะดำเนินตามลัทธิที่ปล่อยให้บริษัทเอกชนเป็นเจ้าของโรงงานแล้ว ให้ผู้ที่สนับสนุนลัทธินั้นพึงสำเหนียกว่า ตนจะนำเอาความระส่ำระสายและความหายนะมาสู่ประเทศ ผู้ที่เคยไปศึกษาวิชาในยุโรปช่างไม่รู้บ้างหรือว่าการที่กรรมกรกับนายจ้าง ได้เกิดวิวาทบาดหมางกันถึงกับบางคราวนายจ้างต้องปิดโรงงาน (Lockout) บางคราวกรรมกรพากันหยุดงาน (Strike) อันโต้เถียงกันด้วยเรื่องค่าจ้างบ้าง เรื่องเวลาทำงานบ้าง เรื่องการพักผ่อนบ้าง การประกันภัยของกรรมกรบ้าง เหล่านี้มิใช่เป็นเพราะเหตุที่เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานดอกหรือ ในประเทศสยามเรานี้ แม้โรงงานจะมีเพียงเล็กน้อย เราก็เห็นแล้วปัญหาได้เริ่มเกิดขึ้น เช่น กรรมกรถรางเป็นต้น ยิ่งบ้านเมืองเจริญขึ้น โรงงานมีมากขึ้น คราวนั้นแหละท่านคงจะเห็นว่า ความระส่ำระสายจะเกิดมีขึ้นเพียงใด แต่ถ้าการประกอบเศรษฐกิจทั้งหลาย รัฐบาลได้เป็นเจ้าของเสียเองแล้ว ราษฎรทั้งหลายไม่ว่าเป็นกรรมกรหรือข้าราชการประเภทใด เมื่อได้ทำงานตามกำลังและความสามารถเหมือนกับกรรมกรและข้าราชการประเภทอื่น แล้วก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน เป็นการเสมอภาคตามกำลังและความสามารถ รัฐบาลเป็นผู้แทนของราษฎรก็เท่ากับราษฎรได้เป็นเจ้าของการเศรษฐกิจทั้งปวง นั้น เมื่อผลแห่งการเศรษฐกิจมีมากราษฎรผู้เป็นกรรมกรและข้าราชการก็ได้รับเงิน เดือนมากขึ้นตามส่วน รัฐบาลจะไปเกียดกันไว้เพื่อประโยชน์ของใครก็ไม่มีเลย ซึ่งต่างกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่เอกชนนั้นจะ ต้องเกียดกันเอาผลกำไรไว้ให้มากและกดขี่ฉ้อแรงของกรรมกรเอาไว้เป็นประโยชน์ ส่วนตัว

จริงอยู่ มีผู้กล่าวว่าถ้ารัฐบาลจัดการประกอบเศรษฐกิจเสียเอง รัฐบาลทำมีแต่ขาดทุน คำกล่าวนี้ผู้กล่าวเอาตัวอย่างที่เลวของบางประเทศมาใช้ กล่าวคือในประเทศที่วินัยบกพร่อง คนงานทำงานไม่เต็มที่ ทั้งนี้มิใช่แต่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจรัฐบาลจึงจะขาดทุน แม้แต่เอกชนเองก็ตาม ถ้าหากการประกอบเศรษฐกิจนั้นคนงานไม่มีวินัยหรือวินัยบกพร่อง เอกชนนั้นก็จะขาดทุนเช่นเดียวกัน ทางแก้ในเรื่องวินัยแห่งโรงงานนี้ จึงไม่ใช่อยู่ในเรื่องที่รัฐบาลหรือเอกชนเป็นเจ้าของ ความจริงอยู่ที่ระเบียบของโรงงานและการควบคุมของหัวหน้างานอีกประการหนึ่ง ถ้าจะพิจารณาถึงการประกอบเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีแต่กำไร เพราะได้ใช้แรงงานที่สูญสิ้นไปนั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งหมดและจัดประหยัด แรงงานได้ กับทั้งเพิ่มแรงงานได้ด้วยวิธีเครื่องจักรกล อะไรเล่าจะเป็นเหตุให้รัฐบาลเกิดขาดทุน

หมวดที่ ๑๐

แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

เพื่อที่การประกอบเศรษฐกิจจะได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อยและได้ผลดีรัฐบาลก็จำต้อง วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ การวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาตินี้ จะต้องคำนวณและสืบสวน เป็นลำดับดังต่อไปนี้

ความเป็นอยู่ของอารยประเทศ

๑. จำต้องคำนวณและสืบสวนว่า ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎรนั้นมีอะไรบ้างและ ฯลฯ จะต้องมีจำนวนเท่าใด จึงจะพอเพียงแก่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตามควรแก่ความเจริญไม่ใช่คำนวณอย่าง การแร้นแค้น เช่น อาหารก็จะต้องคิดถึงจำนวนข้าว เนื้อสัตว์ เกลือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล ฯลฯ ซึ่งบุคคลธรรมดาไม่ยากจนจะต้องมีรับประทาน เครื่องนุ่งห่มก็จะคิดถึงจำนวนผ้าและแพรซึ่งบุคคลธรรมดาไม่ยากจนจะต้องมี เช่น หมวก เสื้อกางเกง ถุงเท้า รองเท้า ฯลฯ เหล่านี้ ในเรื่องสถานที่อยู่ก็จะต้องคิดว่า ในครอบครัวหนึ่งมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง บ้านนั้นไม่ใช่กระท่อมหรือกระต๊อบ จะต้องเป็นบ้านที่บุคคลธรรมดาอยู่ได้ด้วยความผาสุกและทนทานได้นาน เช่น ตึก เป็นต้น ต้องคิดถึงการเปลี่ยนกระท่อมหรือโรงนาซึ่ง เหมือนกับคนป่าในอาฟริกาในเวลานี้ มาเป็นตึกรามซึ่งมีสภาพเท่าเทียมอารยประเทศ ในการคมนาคมนั้นเล่า ก็ต้องคิดถึงการคมนาคมทางบกว่า จะต้องสร้างรถไฟถนนหนทางอันเชื่อมราษฎรทุก ๆ สหกรณ์ ทุก ๆ ตำบลในพระราชอาณาจักรให้ทั่วถึงกัน การสร้างคลองหรือท่าอันเป็นการคมนาคมทางน้ำ และการคมนาคมทางอากาศตลอดจนยวดยานที่ราษฎรในครอบครัวหนึ่งหรือในสหกรณ์หนึ่ง ๆ ควรมีควรใช้ เช่น รถยนต์ เหล่านี้ต้องเทียบกับสภาพของคนไทยที่จะให้มีสิ่งเหล่านี้เท่าเทียมกับคนที่ มีอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว

๒. เมื่อคำนวณและสืบสวน ดั่งกล่าวในข้างต้นแล้ว ก็จะต้องคำนวณและสืบสวนต่อไปว่า สิ่งเหล่านั้นถ้าจะทำขึ้นจะต้องอาศัยที่ดิน แรงงาน เงินทุน เป็นจำนวนเท่าใด เช่น การปลูกข้าวซึ่งจะเพียงพอแก่การที่พลเมือง ๑๑ ล้าน รับประทาน เช่นสมมติจะต้องการข้าวสาร ๒,๙๓๑ ล้านกิโลกรัม จะต้องอาศัยที่นา ๑๕ ล้านไร่และจะต้องอาศัยแรงงานตามวิธีต่าง ๆ สุดแต่การทำนาจะใช้แรงคนกับแรงสัตว์พาหนะ หรือจะใช้แรงคนกับเครื่องจักรกล เช่น การไถ ถ้าคนไถตามธรรมดาจะได้วันละ ๑/๒ ไร่ ในการไถก็สิ้นแรง ๓๐ ล้านแรง แต่ถ้าใช้เครื่องจักรกล ซึ่งเครื่องจักรไถนาเครื่องหนึ่งได้วันละ ๔๐ ไร่ ซึ่งต้องการคนขับคนหนึ่งและผู้ช่วยคนหนึ่งแล้ว แรงงานของคนก็จะต้องใช้เพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรงเท่านั้น ทุ่นแรงงานได้หลายเท่า สมมติว่าการคราดและหว่านถ้าใช้แรงคนก็ต้องสิ้น ๑๕ ล้านแรง แต่ถ้าใช้เครื่องจักรกลก็จะต้องใช้เพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรง (เทียบตามข้างต้น)

การเกี่ยว ถ้าใช้แรงคนก็ต้องสิ้น ๓๐ ล้านแรง แต่ถ้าเครื่องจักรกลนำมาใช้ได้ โดยปรับที่นาให้ไขน้ำออกได้ซึ่งเครื่องจักรกลเกี่ยวจะใช้การได้แล้ว ก็ต้องใช้แรงคนเพียง ๗๕๐,๐๐๐ แรง

ดั่งนี้รวมแรงงานที่จะต้องใช้จึงอาจเป็นดั่งนี้

เครื่องจักรทุ่นแรงงาน

ก.ถ้าใช้แรงคนผสมกับแรงสัตว์พาหนะเท่านั้นสิ้นแรงงาน ๙๐ ล้านแรง

ข. ถ้าใช้เครื่องจักรกล ในการไถ คราด หว่าน ลากขน ส่วนการเก็บเกี่ยวใช้แรงคน เมื่อเครื่องจักรกลยังนำมาใช้ไม่ได้ ก็จะต้องสิ้นแรงงาน ๓๒,๒๕๐,๐๐๐ แรง

ค. ถ้าใช้เครื่องจักรกลทั้งหมด ก็จะใช้แรงคนเพียง ๓ ล้านแรงเท่านั้น และเงินทุนที่จะต้องใช้ก็ต่างกัน เช่นถ้าใช้เครื่องจักรกลก็ต้องหาซื้อเครื่องจักรกลและน้ำมัน สมมติว่า ที่นา ๑๕ ล้านไร่ ใช้เครื่องไถ ๕,๐๐๐ เครื่อง ๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท ดั่งนี้ทุนที่จะชื้อเครื่องไถนาก็คงเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอาจผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ ได้ และหาทุนในการซื้อน้ำมันหรือตั้งโรงกลั่นกรอง ขุดหาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงอื่น ๆ

๓. เมื่อทราบจากการคำนวณดังกล่าวข้างต้นแล้วก็จะต้องคำนวณและสืบสวนถึงที่ดิน แรงงาน เงินทุนของรัฐบาลที่มีอยู่ในเวลานี้ และที่จะมีขึ้นเพื่อทราบกำลังแห่งการที่จะประกอบเศรษฐกิจ เช่น ที่ดินเรามี ๓๒๐ ล้านไร่เศษ เป็นที่นาแล้ว ๑๘ ล้านไร่ และเป็นที่ไร่ที่ป่าซึ่งจะปลูกพืชผลได้อย่างไร และจัดการทำป่าไม้อย่างไร ในใต้ดินมีแร่อย่างไร ซึ่งเราจะจัดการขุดขึ้นมาใช้ได้และคำนวณถึงแรงงาน เช่นพลเมือง ๑๑ ล้านคนนี้ สมมติคงเป็นเด็ก และคนชราซึ่งทำงานไม่ได้ ๕ ล้านคน คงเป็นคนที่ทำงานได้ ๖ ล้านคน ในวันหนึ่งทำงาน ๘ ชั่วโมง และปีหนึ่งทำงาน ๒๘๐ วัน หยุด ๘๕ วัน คงได้แรงงาน ๑,๖๘๐ ล้านวันแรงงาน ในบรรดาแรงงานเหล่านี้ ก็จะแยกเป็นแรงงานที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงเท่าไร แรงงานฝีมือเท่าไร แรงงานวิชาพิเศษเช่นนายช่าง แพทย์ ครู เท่าใด แรงงานในการควบคุมเช่นหัวหน้างาน และข้าราชการฝ่ายปกครองเท่าใด และจะต้องคำนวณถึงเงินทุนที่รัฐบาลจะจัดให้มีได้ เช่นการกู้เงินภายใน การร่วมมือกับผู้มั่งมี การเก็บภาษีทางอ้อมอันไม่ให้เป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร

เมื่อเราคำนวณได้ดั่งนี้แล้วก็จะทราบได้ว่า เรามีที่ดินและแรงงานเหลืออยู่เท่าใด เราขาดเงินทุนเท่าใดและเราจะจัดให้ที่ดินนั้นเป็นประโยชน์อย่างไร และแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์อย่างไร และในที่สุดก็จะประมาณได้ว่าการที่จะทำให้ราษฎรได้ถึงซึ่งความสมบูรณ์นั้น เราจะต้องอาศัยเวลาเท่าใด ในปีหนี่ง ๆ เราประมาณว่าจะทำได้อย่างไร

เริ่มใช้เป็นส่วน ๆ

และในที่สุดก็ทราบได้ว่า เราจะเริ่มใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติในท้องที่ใดก่อนและเริ่มการเศรษฐกิจใดก่อน เช่นนี้เป็นลำดับไป จนทั่วราชอาณาจักร

อบรมผู้ชำนาญ

การกระทำใด ๆ เมื่อไม่คำนวณกำลังให้ดีแล้วการนั้นจะสำเร็จได้ยาก และเมื่อทราบว่าเราขาดกำลังอันใด เราก็ควรหากำลังอันนั้น เช่น เราขาดผู้ชำนาญการพิเศษ เราก็จะต้องจ้างชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ชำนาญการพิเศษมาใช้ไปพลางก่อน และอบรมคนของเราซึ่งจะต้องวางแผนการอบรมไว้ด้วย

หมวดที่ ๑๑

ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก ๖ ประการ

การที่รัฐบาลจัดการประกอบเศรฐกิจเสียเองโดยการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์ นั้น ย่อมทำให้วัตถุประสงค์อื่น ๆ ของคณะราษฎรได้สำเร็จได้อย่างดียิ่งกว่าที่จะปล่อยการเศรษฐกิจให้เอกชนต่าง คนต่างทำดั่งจะเห็นได้ตามที่จะได้ชี้แจงต่อไปนี้

บทที่ ๑

เอกราช

ก) เอกราชในทางศาล

ในการที่จะจัดทำ ประมวลกฎหมายให้ครบถ้วนตามที่รัฐได้แถลงนโยบายไว้นั้น ในข้อนี้ไม่จำเป็นต้องกล่าว เพราะเหตุว่าการร่างในขณะที่เขียนคำชี้แจงอยู่นี้ได้จวนเสร็จอยู่แล้ว

ข) เอกราชในทางเศรษฐกิจ

เมื่อจัดทำสิ่งที่จะ อุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการที่จะดำรงชีวิตได้เองและรัฐบาลควบคุมการกด ราคา หรือขึ้นราคาโดยที่เอกชนได้ทำเล่นตามชอบใจในเวลานี้ได้แล้ว เราก็ย่อมเป็นเอกราชไม่ต้องถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ในทางเศรษฐกิจไม่ได้

ค) เอกราชทางการเมือง

เมื่อบ้านเมืองเรามี สิ่งอุปโภคบริโภคปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตพร้อมบริบูรณ์เรามีอาวุธในการ ป้องกันประเทศได้เพียงพอ และเราบำรุงการศึกษาได้ด้วยมีแรงงานที่จะจัดให้ครูอบรมสั่งสอน เราจัดบำรุงอนามัยของราษฎร โดยอาศัยวิธีที่รัฐบาลจัดการเศรษฐกิจเสียเอง อันเปิดช่องทางความสะดวกแก่การบำรุงอื่น ๆ แล้วจะมีประเทศใดเขามาราวี เวลานี้มีแต่พากันบ่นกลัวฝรั่งไม่กล้าทำอะไรลงไป ก็เมื่อเราจะจัดบ้านเมืองของเราตามความเอกราชของเราที่มีอยู่ เรารักษาสัญญาและข้อตกลงกับเขา เราไม่เบียดเบียนหรือกีดกันอาชีพของเขาที่มีอยู่ในสยามเวลานี้ เรายังคงแลกเปลี่ยนสินค้ากับเขา คือซื้อสิ้นค้าของเขาในประเภทที่เราทำเองไม่ได้ เช่นเครื่องจักรกล เราซื้อมามากขึ้นแทนที่จะซื้ออาหารมาจากเขาซึ่งเราทำของเราเองได้ ดั่งนี้ต่างประเทศใดเขาจะมาข่มเหงเรา ถ้าเรามัวกลัวฝรั่งว่าเขาจะข่มเหงเราในทางที่ผิด แม้เราจะเป็นฝ่ายที่ทำถูกเช่นนั้นแล้ว เราก็อย่าทำอะไรเสียเลยดีกว่าแม้แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ในชั้นแรกเรามิกลัวฝรั่งว่าเขาจะข่มเหงหรือ แต่เขาก็มีน้ำใจดีเพียงพอที่จะไม่มาข่มเหงอันใด ฝรั่งเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติจริงอยู่แม้จะมีผู้ดูถูกสันนิบาตชาติว่า ทำอะไรไม่จริงจัง แต่ก็ยังเป็นเครื่องที่ยับยั้งการกดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมไม่มาก็น้อยซึ่ง ผิดกว่าในครั้งก่อน ขอให้ดูการพิพาทระหว่างบริษัทน้ำมันอังกฤษกับประเทศเปอร์เซีย ซึ่งเปอร์เซียก็มีอาณาเขตและพลเมืองไล่เลี่ยกับเรา ความเจริญในทางการศึกษาส่วนมากของพลเมืองก็ไล่เลี่ยกับเรา แต่ทำไมเมื่อเปอร์เซียถอนสัมปทานของบริษัทอังกฤษ อังกฤษก็ไม่จู่โจมมาข่มเหง ข้าพเจ้าคิดว่าเขามีธรรมะพอจึงนำเรื่องขึ้นว่ากล่าวในสันนิบาตชาติแทนที่จะ ยกกองทัพไปรบ เมื่อเราไม่ต้องการข่มเหงเบียดเบียนชาวต่างประเทศเราต้องการบำรุงประเทศเรา เหตุไฉนเขาจะมากดขี่ข่มเหงเรา

บทที่ ๒

การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน

ข้าพเจ้าเคยแสดงปาฐกถาที่สามัคคยาจารย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่าเหตุแห่งการที่บุคคลกระทำผิดอาชญานั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ:-

๑. เหตุอันเกี่ยวแก่นิสสัยสันดานของผู้กระทำผิดนั้นเอง

๒. เหตุอันเนื่องจากการเศรษฐกิจ เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้น เหล่านั้น ก็เมื่อรัฐบาลได้จัดให้ราษฎรไดมีความสุขสมบูรณ์ มีอาหารกิน มีเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ แล้วก็เหตุไฉนการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากการเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่อีก เล่า เหตุแห่งการกระทำผิดอาชญาจะคงเหลืออยู่ก็แต่เหตุอันเนื่องแต่นิสสัยสันดาน ของผู้กระทำผิด ซึ่งจะต้องคิดแก้ไขโดยอบรมและสั่งสอนดัดนิสสัย และเมื่อผู้อบรมผู้สั่งสอนผู้ดัดนิสสัยได้มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ แล้ว ในการอบรมสั่งสอนดัดนิสสัยจะได้ผลดียิ่งขึ้น

บทที่ ๓

การเศรษฐกิจ

การเศรษฐกิจซึ่งคณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่ารัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากก็จะเป็นการสมจริงไม่ใช่หลอกลวงประชาชน ซึ่งข้อนี้มีผู้เข้าใจผิดเพราะเห็นว่ารัฐบาลยังมิได้ทำการใด แต่ที่ยังมิได้กระทำการใดก็เพราะยังมิได้ดำเนินการตามความคิดของข้าพเจ้า เมื่อได้ดำเนินการตามความคิดของข้าพเจ้าที่ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจ เสียเองแล้ว ราษฎรทุกคนจะมีงานทำ โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ แม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลแล้ว ราษฎรก็จะไม่อดอยากเพราะเงินเดือนที่รัฐบาลจะให้ในอัตราขั้นต่ำก็จะได้กำหนด ให้พอเพียงที่จะซื้อแลกเปลี่ยนกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ตามความต้องการของราษฎร

บทที่ ๔

เสมอภาค

ความเสมอภาคก็ย่อมจะมีขึ้นในสิทธิและหน้าที่ ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษยังเป็นการเสมอภาคที่จะเขารับราชการ แม้จะเป็นในทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่ไม่อดตายแต่ไม่ใช่เสมอภาคในการที่คนหนึ่ง มีเงิน ๑๐๐ บาท จะต้องริบเอามาแบ่งเท่าๆ กันในระหว่าง ๑๐๐ คน ๆ ละ ๑ บาท ตามที่นักปราชญ์ในประเทศสยามท่านอ้างว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เขาแบ่งกันเช่นนั้น เราเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามที่ท่านนักปราชญ์ในประเทศสยามท่านกล่าวนั้น และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกันดังที่นักปราชญ์ท่านกล่าว

บทที่ ๕

เสรีภาพ

ข้อนี้มองแต่ผิว ๆ จะคัดค้านทันทีว่า การที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าเป็นข้าราชการนั้น และการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองนั้น จะเป็นการตัดเสรีภาพ จริงอยู่เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเอง เช่นนี้ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ แต่การตัดเสรีภาพนั้นก็เพื่อจะทำให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ทั้งหมด เป็นการปฏิบัติหลักข้อ ๓ รัฐบาล ไม่ได้ตัดเสรีภาพในการอื่น ๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในเคหะสถาน ในการพูด ในการศึกษาอบรม ในการสมาคม เมื่อราษฎรได้มีความสุขภายในเศรษฐกิจแล้วราษฎรก็ย่อมมีความสุขกาย ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย แม้ในเวลานี้เองราษฎรก็ต้องทำงานเอง เพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากพวกที่เกิดมาหนักโลก อาศัยคนอื่นเขากิน (Social Parasite) ไม่ว่าประเทศใด ๆ เสรีภาพย่อมจำกัดเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหมดด้วยกัน และคณะราษฎรก็ได้ประกาศไว้แล้วว่าเสรีภาพนั้นจะทำให้เกิดได้เมื่อไม่ขัดกับ หลัก ๔ ประการดั่งที่ได้กล่าวข้างต้น

บทที่ ๖

การศึกษา

ราษฎรจะมีการศึกษาอย่างเต็มที่ เมื่อราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ โดยรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเอง ราษฎรก็ย่อมจะได้รับการศึกษาแทนที่จะคอยพะวงถึงทรัพย์สินของตนว่าจะเป็น อันตรายสูญหาย และรัฐบาลยังอาจที่จะบังคับให้ราษฎรที่เป็นข้าราชการจำต้องเล่าเรียน แม้ราษฎรผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๕ ปีก็ตาม เมื่อเป็นข้าราชการแล้วก็จำต้องเรียนโดยวิธีเอกชนต่างคนต่างทำนั้น การบังคับให้ผู้ใหญ่เรียน ย่อมเป็นการยาก

ก็เมื่อการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้วัตถุที่ประสงค์ทั้ง ๖ ประการของคณะราษฎรได้สำเร็จไปตามที่ได้ประกาศแก่ราษฎรไว้แล้ว สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกัน เป็นศัพท์ว่า ศรีอริยะ ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ไฉนเล่าพวกเราที่ได้พร้อมใจกันไขประตูเปิดช่องทางให้แก่ราษฎรแล้ว จะรี ๆ รอ ๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือผลแห่งความสุขความเจริญดังที่ได้มีพุทธทำนายกล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรี อารย์ ในเรื่องนี้ผู้ถือศาสนาทุกคน ในการทำบุญปรารถนาจะประสพศาสนาพระศรีอารย์แม้ในการสาบานในโรงศาลก็ดี ในการพิธีใด ๆ ก็ดี ก็อ้างกันแต่ว่าเมื่อซื่อสัตย์หรือให้การไปตามจริงแล้ว ก็ให้ประสพพบศาสนาพระศรีอารย์ ก็เมื่อบัดนี้เราจะดำเนินวิถีไปสู่อริยะสมัย แต่ก็ยังมีบุคคลที่จะถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งถอยหนัก ๆ เข้าก็จะกลับไปสู่สมัยก่อนพุทธกาล คือเมื่อ ๒๔๗๕ ปีที่ล่วงมาแล้ว

เค้าร่าง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
(Assurance Social)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก………………………………………

มาตรา ๑. พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พ.ศ. ๒๔๗๕

มาตรา ๒. ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมวดที่ ๑

เงินเดือนและเบี้ยบำนาญของราษฎร

มาตรา ๓. ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นต้นไปนี้ ให้บรรดาบุคคลที่มีสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ในประเทศสยามถ้วนทุกคน ได้รับเงินจากรัฐบาลหรือสหกรณ์ ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดไว้ตามอัตราขั้นต่ำดังต่อไปนี้๑

๑. บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า ๑ ปี เดือนละ……………………บาท

๒. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑-๕ ปี เดือนละ…………………….บาท

๓. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๖–๑๐ ปี เดือนละ…………………….บาท

๔. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๑–๑๕ ปี เดือนละ…………………….บาท

๕. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๖–๑๘ ปี เดือนละ…………………….บาท

๖. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๙–๕๕ ปี เดือนละ…………………….บาท

๗. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป เดือนละ…………………….บาท

มาตรา ๔. บุคคลที่มีคุณวุฒิ หรือความสามารถพิเศษ หรือมีกำลังพิเศษจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้นไปตามคุณวุฒิความสามารถกำลังและ ตามชนิดของงานที่ทำตามอัตราดังต่อไปนี้๒

ชั้น ๑. ๘๐ บาท ชั้น ๒. ๙๐ บาท

ชั้น ๓. ๑๐๐ บาท ชั้น ๔. ๑๑๐ บาท

ชั้น ๕. ๑๒๐ บาท ชั้น ๖. ๑๓๐ บาท

ชั้น ๗. ๑๔๐ บาท ชั้น ๘. ๑๕๐ บาท

ชั้น ๙. ๑๖๐ บาท ชั้น ๑๐. ๑๗๐ บาท

ชั้น ๑๑. ๑๘๐ บาท ชั้น ๑๒. ๑๙๐ บาท

ชั้น ๑๓. ๒๐๐ บาท ชั้น ๑๔. ๒๒๐ บาท

ชั้น ๑๕. ๒๔๐ บาท ชั้น ๑๖. ๒๖๐ บาท

ชั้น ๑๗. ๒๘๐ บาท ชั้น ๑๘. ๓๐๐ บาท

ชั้น ๑๙. ๓๒๐ บาท ชั้น ๒๐. ๓๕๐ บาท

ชั้น ๒๑. ๔๐๐ บาท ชั้น ๒๒. ๔๕๐ บาท

ชั้น ๒๓. ๕๐๐ บาท ชั้น ๒๔. ๕๕๐ บาท

ชั้น ๒๕. ๖๐๐ บาท ชั้น ๒๖. ๖๕๐ บาท

ชั้น ๒๗. ๗๐๐ บาท ชั้น ๒๘. ๘๐๐ บาท

ชั้น ๒๙. ๙๐๐ บาท ชั้น ๓๐. ๑,๐๐๐ บาท

มาตรา ๕. นอกจากเงินเดือนที่ได้รับ ให้ผู้ที่ทำงานหรือรับราชการได้รับเงินรางวัลอีกโสดหนึ่ง ตามผลแห่งการงานของตนซึ่งรัฐบาลหรือสหกรณ์จะได้กำหนดส่วนลงไว้๓

มาตรา ๖. ผู้ ที่รับราชการหรือทำงานได้เงินเดือนสูงกว่าขั้นสามัญเมื่อออกจากราชการจะได้ รับเบี้ยบำนาญสูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓.๔

มาตรา ๗. เงินเดือนและเงินรางวัลและเบี้ยบำนาญ จะเพิ่มส่วนขึ้นได้ตามส่วนแห่งการที่รัฐบาลหรือสหกรณ์ได้ผลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น๕

หมวดที่ ๒

ว่าด้วยการทำงาน

มาตรา ๘. ให้บรรดาบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๕ ปีรับราชการตามประเภทงาน ให้กำหนดแบ่งตามความกำลังความสามารถคุณวุฒิและตามเพศ อายุ ดังนี้

๑. ผู้ใดมีคุณวุฒิอย่างไรก็ให้สมัครเข้าทำงานในประเภทที่ใช้คุณวุฒินั้น ถ้างานประเภทใดมีผู้สมัครมากกว่าที่งานประเภทนั้นต้องการจำนวนคน ก็ให้มีการสอบแข่งขัน ผู้ใดที่สอบได้ตามกำหนด ก็ให้รับเข้าทำงานตามที่ผู้นั้นได้สมัคร การสอบแข่งขัน ผู้ใดที่สอบได้ตามที่กำหนด ก็ให้รับเข้าทำงานตามที่ผู้นั้นได้สมัคร

๒. ความสามารถให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับคุณวุฒิ

๓. กำลัง บุคคลใดที่ไม่มีคุณวุฒิ หรือความสามารถพิเศษ หรือซึ่งแข่งขันได้ที่ต่ำกว่าการงานที่ต้องการคุณวุฒิ หรือความสามารถพิเศษ ก็ให้ผู้นั้นทำงานตามกำลังแห่งความแข็งแรงของตน ให้เหมาะสมกับประเภทของตน

๔. เพศ ตามธรรมดางานเบา เช่นงานที่เกี่ยวกับการรักษาสถานที่ การเสมียน การเป็นครู การอนุบาลเด็ก การจำหน่ายของอุปโภคบริโภค ให้พยายามผ่อนผันให้เพศหญิง เว้นแต่จำเป็นจึงใช้เพศชาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของเพศหญิงมีคุณวุฒิและความสามารถเป็นพิเศษที่จะเข้า แข่งขันทำงานในประเภทที่ใช้คุณวุฒิและความสามารถเป็นพิเศษ

๕. อายุ จะต้องให้ผู้ที่มีอายุมากทำงานเบากว่าผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยฉกรรจ์

มาตรา ๙. บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๑ ปี ถึง ๑๘ ปี และบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป ตามปกติไม่ต้องทำงานอันใด เว้นไว้แต่เหตุฉุกเฉินเมื่อขาดแรงงานในการที่จะป้องกันภยันตรายในทาง เศรษฐกิจ ก็ให้ระดมบุคคลจำพวกนี้เข้าทำงานได้ตามกำลังที่ผู้นั้นจะทำได้มิให้เป็นการ หักโหมหรือทรมานเกินไป เช่นการระดมเพื่อเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อขาดแรงงาน หรือการระดมกันกำจัดแมลงที่เป็นอันตรายต่อพืชผลเป็นต้น๖

มาตรา ๑๐. บุคคลต่อไปนี้ แม้จะมีอายุอยู่ในวัยที่จะต้องทำงานหรือรับราชการก็ดี แต่ให้ได้รับความยกเว้นที่จะไม่ต้องทำงานโดยตนและบุตรของตนที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ได้รับเงินเดือนตลอด คือ

๑. หญิงมีครรภ์ ๗

๒. คนเจ็บป่วย ๗

๓. คนพิการ ๗

๔. นักเรียนมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอุดม ซึ่งสอบไล่แข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรือในโรงเรียนอุดมได้๘

๕. บุคคลที่มีเวลาราชการพอที่จะได้รับเบี้ยบำนาญ

มาตรา ๑๑. บุคคลดังต่อไปนี้ได้รับความยกเว้นที่จะไม่ต้องรับราชการแต่ตนเองและบุตรของตนไม่มีสิทธิ์ที่จะรับเงินเดือนขณะที่มิได้รับราชการ คือ๙

๑. บุคคลซึ่งแสดงว่า มีทรัพย์สินหรือรายได้อันมั่นคงที่จะเลี้ยงตนได้

๒. บุคคลที่ถืออาชีพอิสระเช่น แพทย์ ทนายความ ช่างฝีมือ นักประพันธ์ หรือบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ประกอบเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การกสิกรรมบางชนิด เมื่อบุคคลเหล่านั้นแสดงได้ว่า การประกอบอาชีพอิสระของตนจะทำให้ตนมีรายได้เลี้ยงชีวิตของตนและบุตรของตนได้ ตลอด

หมวดที่ ๓

ว่าด้วยวิธีจ่ายเงินเดือน

มาตรา ๑๒. ให้รัฐบาลหรือสหกรณ์จ่ายเงินแก่ราษฎรโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

๑. จ่ายเป็นเงินตราให้แก่ราษฏร ตามอัตราที่ราษฎรนั้น ๆ มีสิทธิได้รับ

๒. จ่ายโดยเช็คของธนาคารแห่งชาติ ตามอัตราที่ราษฎรนั้น ๆ มีสิทธิได้รับ และให้มีการหักกลบลบหนี้ (Compensation) กับเงินที่ราษฎรนั้น ๆ เป็นลูกหนี้ต่อรัฐบาลหรือต่อสหกรณ์ ในการซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่และปัจจัยอื่น ๆ แห่งการดำรงชีวิต เมื่อหักแล้วราษฎรยังคงเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลหรือสหกรณ์อยู่เท่าใดราษฎรก็มี สิทธิที่จะฝากเงินนั้น ไว้ต่อธนาคารแห่งชาติหรือซื้อใบกู้ของรัฐบาลหรือสหกรณ์ หรือจะถอนเอามาใช้จ่ายก็ได้ตามใจสมัคร

หมวดที่ ๔

ข้าราชการต่างประเทศ

มาตรา ๑๓. รัฐบาลอาจจ้างชาวต่างประเทศผู้ชำนาญการพิเศษ ชาวต่างประเทศนี้ จะมีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

หมวดที่ ๕

วินัยข้าราชการ

มาตรา ๑๔. ข้าราชการทั้งหลายไม่ว่าประเภทเจ้าหน้าที่ปกครอง หรือ กรรมกรในทางเศรษฐกิจของรัฐบาล จะต้องอยู่ในวินัยทำงานเต็มตามกำลังและความสามารถในการงานที่ตนกระทำ ผู้ใดเกียจคร้านจะต้องถูกลงโทษ เช่นตัดเงินเดือน หรือเพิ่มเวลาทำงาน หรือโทษสถานอื่นตามที่จะได้มีระเบียบกำหนดไว้

ประกาศมา ณ วันที่………………พุทธศักราช……………….

เป็นปีที่……………..

คำอธิบาย

เค้าร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พ.ศ. ๒๔๗๕

๑. อัตราขั้นต่ำนี้ต้องกำหนดให้เป็นการเพียงพอแก่การซื้ออาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, สถานที่อยู่ ฯลฯ

๒. อัตรานี้ได้จำลองอัตราเงินเดือนข้าราชการประจำชั้นสัญญาบัตรในปัจจุบันนี้ที่ตกลงใหม่

๓. รางวัลเช่นนี้เป็นไปในทำนองที่ให้กรรมกรมีส่วนในผลกำไรที่เรียกกันว่า Participation benefice

๔. เงินเดือนของข้าราชการและของกรรมกรย่อมต่างกันตามคุณวุฒิและความสามารถ ใครได้เงินเดือนสูงก็ควรได้เบี้ยบำนาญสูง

๕. ในเรื่องนี้ย่อมมีได้ เมื่อปรากฎว่าการประกอบเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ผลยิ่งขึ้น การเพิ่มนั้นอาจเป็นได้ เช่นเพิ่มเงินเดือนอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ สมมติว่าเงินเดือน ๘๐ คงเพิ่มเป็น ๑๐๐ เงินเดือน ๔๐๐ คงเพิ่มเป็น ๕๐๐เป็นต้น

๖. ในบางประเทศเมื่อต้องขจัดแมลง ได้มีกฎหมายระดมราษฎรให้ช่วยกันกำจัด ในประเทศเราอาจเห็นได้ หรือในบางสมัยที่เครื่องจักรกลในการเกี่ยวข้าวยังใช้ไม่ได้ เมื่อมีข้าวในนาจะเก็บเกี่ยวแล้ว ก็อาจระดมบุคคลจำพวกนี้ช่วยตามกำลังอันมิใช่งานหนักเกินไป

๗. ในการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตามวิธี Assurance social บุคคลจำพวกนี้ได้เบี้ยบำนาญ

๘. ทั้งนี้เพื่อเพาะผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยา

๙. การยกเว้นนี้เพื่อผู้มั่งมีหรือผู้รังเกียจที่จะเป็นข้าราชการ ได้มีโอกาสประกอบเศรษฐกิจตามลำพังของตนเมื่อตนสามารถเช่นนั้น

เค้าร่าง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ

พุทธศักราช…

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก

……………………………………………………………………………..

มาตรา ๑. พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช……………

มาตรา ๒. ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓. ตั้งแต่วันที่ประกาศให้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นต้นไป ให้รัฐบาลมีอำนาจประกอบการเศรษฐกิจ คือ ประดิษฐกรรมทั้งหลายไม่ว่าการประดิษฐ์นั้นจะเป็นกสิกรรมหรืออุตสาหกรรมใด ๆ ตลอดจนการขนส่งและจำหน่าย (ปริวรรตกรรม) ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่การประกอบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่เอกชนก็คงให้เอกชนมีอำนาจกระทำได้ดังตัวอย่างต่อ ไปนี้

๑. การทำเหมืองแร่ ป่าไม้และการประกอบกิจการ อันเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งรัฐบาลได้ให้สัมปทานหรืออาชญาบัตรไปแล้วในเวลานี้ก

๒. โรงงานของเอกชนที่ได้ตั้งอยู่แล้วในเวลานี้รัฐบาลจะผ่อนผันให้คงตั้งได้ โดยออกสัมปทานให้

๓. ห้างร้านค้าขายของชนต่างด้าว ซึ่งมีสัญญาทางพระราชไมตรีเป็นพิเศษกับประเทศสยามข

๔. ประกอบเศรษฐกิจอื่น เช่น การพาณิชย์อุตสาหกรรม กสิกรรมซึ่งเอกชนได้ขออนุญาตค หรือสัมปทานเป็นราย ๆ ไป เมื่อได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่รัฐบาลว่า การประกอบอาชีพอิสระนั้นได้ผลเพียงพอที่ผู้ประกอบจะเลี้ยงชีวิตไปได้ตลอด และตามเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจแห่งชาติ

หมวดที่ ๑

ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดิน

มาตรา ๔. ให้รัฐบาลมีอำนาจซื้อบรรดาที่ดินทั้งหลาย นอกจากที่อยู่สำหรับครอบครัวของเอกชน และนอกจากที่ดินซึ่งเอกชนได้รับอนุญาตหรือสัมปทานให้ประกอบเศรษฐกิจในที่ดิน นั้น

บรรดาที่ดินรกร้างว่างเปล่านซึ่งยังไม่อยู่ในความครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ ของผู้ใดนั้น ผู้ใดจะครอบครอง หรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นไม่ได้นอกจากได้รับสัมปทานจากรัฐบาล

มาตรา ๕. ในการกำหนดราคาที่ดินนั้น ให้เจ้าของที่ดินและรัฐบาลต่างฝ่ายตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน และรวมกันตั้งผู้ชี้ขาดหนึ่งคน การกำหนดราคาที่ดินนั้น ต้องไม่เกินกว่าที่เป็นอยู่ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

มาตรา ๖. ในการชำระราคานั้น ให้รัฐบาลจ่ายเงินตรา หรือใบกู้ให้แก่เจ้าของที่ดินยึดถือไว้ตามราคาที่ดินซึ่งรัฐบาลซื้อ ใบกู้นั้นให้กำหนดดอกเบี้ยตามอัตราธนาคารในขณะที่ตกลงซื้อขาย แต่ไม่ให้เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในเวลานี้

ผู้ที่ถือใบกู้ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลอีกโสดหนึ่งจากผลที่สหกรณ์ อันรับโอนที่ดินของตนได้ทำประโยชน์ตามส่วนที่รัฐบาลจะกำหนดไว้

หมวดที่ ๒

ว่าด้วยการจัดหาเงินทุนและเครดิต

มาตรา ๗. ให้รัฐบาลจัดหาเงินทุนและเครดิตเพื่อประกอบการเศรษฐกิจดั่งต่อไปนี้

๑. โดยเก็บภาษีมฤดก จ

๒. โดยเก็บภาษีรายได้ของเอกชน

๓. โดยเก็บภาษีทางอ้อมใน ยาสูบ ฉ ไม้ขีดไฟ ฉ เกลือ ช ฯลฯ

๔. โดยบังคับให้นักเลงการพนัน ซึ่งปรารถนาเล่นการพนัน มาขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประจำตนและเสียค่าจดทะเบียนเป็นงวด ๆ ตามชนิดของการพนัน ซึ่งตนปรารถนาจะเล่น และห้ามมิให้จดทะเบียนบุคคลซึ่งในขณะใช้พระราชบัญญัตินี้เล่นการพนันนี้ไม่ เป็น

นอกจากการเสียค่าจดทะเบียนประจำตัวแล้วการเล่นทุก ๆ คราวจะต้องได้รับอนุญาตและเสียค่าธรรมเนียมอีกต่างหากทุก ๆ คราว

๕. ออกใบกู้ ฌ เพื่อคนที่มั่งมีภายในพระราชอาณาจักรซื้อใบกู้ โดยรัฐบาลเอาโรงงานหรือทรัพย์สินอื่นเป็นประกัน

๖. ออกสลากกินแบ่ง ญ

๗. กู้เงินจากธนาคารแห่งชาติ ฎ

๘. กู้เงินจากต่างประเทศ

๙. ตกลงหาเครดิตกับบริษัทที่จำหน่ายเครื่องจักรกลกับต่างประเทศเพื่อส่งเงินเป็นงวด ๆ

หมวด ๓

ว่าด้วยธนาคารแห่งชาติ

มาตรา ๘. ให้รัฐบาลจัดให้มีธนาคารแห่งชาติโดยเอาเงินทุนสำรองของรัฐบาล และเงินที่จะกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ ให้ธนาคารแห่งชาติกระทำกิจการเหมือนดั่งธนาคารทั้งหลาย และให้มีอำนาจออกธนบัตรโดยโอนกรมเงินตราในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมาอยู่ใน ธนาคารแห่งชาติ โอนคลังจังหวัดต่าง ๆ ในเวลานี้เป็นสาขาของธนาคารแห่งชาติในจังหวัดต่าง ๆ

มาตรา ๙. ธนาคารแห่งชาติจำต้องให้รัฐบาลกู้เงินตามที่รัฐบาลต้องการตามกำลังของธนาคารแห่งชาติ

หมวดที่ ๔

ว่าด้วยแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

มาตรา ๑๐. ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่ง มีหน้าที่จัดการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ คือกำหนดการประดิษฐกรรม ซึ่งจะเป็นการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทั้งหลายและการปริวรรตกรรม คือการขนส่งและการคมนาคม การจัดสร้างสถานที่อยู่ให้แก่ราษฎรทั้งหลาย และจัดแยกการงานออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ

มาตรา ๑๑. แผนเศรษฐกิจแห่งชาตินี้ให้กำหนดประมาณว่าในปีหนึ่ง ๆ รัฐบาลจะทำได้อย่างไร และให้แจ้งผลแห่งผลกระทำต่อมหาชนทุก ๆ สัปดาห์

มาตรา ๑๒. ในระหว่างเวลาที่ใช้แผนเศรษฐกิจแห่งชาตินั้น ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องแก้แผนเพราะรัฐบาลจัดหาทุนและแรงงานไม่ได้ตามกำหนดก็ดี หรือรัฐบาลมีทุนและงานเพิ่มขึ้นก็ดี ให้กรรมการสภาแผนเศรษฐกิจแห่งชาติประชุมกันแก้แผนนั้น ๆ แล้วแจ้งผลให้มหาชนทราบ

มาตรา ๑๓. แผนเศรษฐกิจแห่งชาติจะเริ่มใช้ในเขตใดให้ประกาศเป็นราย ๆ ไป และให้ชี้แจงถึงที่ดินเงินทุนแรงงานของข้าราชการและกรรมการและผู้ชำนาญการ พิเศษว่าพอเพียงประการใด

หมวดที่ ๕

กรรมสิทธิของเอกชน

มาตรา ๑๔. ให้เอกชนมีกรรมสิทธิในสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งเอกชนนั้นหามาได้

มาตรา ๑๕. บรรดาผู้ที่คิดประดิษฐ์วัตถุสิ่งใดได้ ซึ่งเข้าลักษณะที่จะเป็นกรรมสิทธิในการค้าได้ ก็ให้ผู้นั้นมีกรรมสิทธิในการนั้น Brevet d’ invention บุคคลนั้นจะขอสัมปทานประกอบการนั้นเอง หรือขายต่อรัฐบาลหรือจะเข้าร่วมกับรัฐบาลในการประดิษฐ์ ก็อาจทำได้ตามใจสมัคร

ประกาศมา ณ วันที่………….พุทธศักราช…………เป็นปีที่…………………………..

คำอธิบายเค้าร่าง

พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ

ก.ทั้งนี้ เพื่อไม่กระทบกระเทือนรุนแรงต่อเอกชนที่ประกอบอาชีพของตนโดยเศรษฐกิจได้

ข.ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้กระทบกระเทือนชาวต่างประเทศ

ค.เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนที่รังเกียจในการเป็นข้าราชการที่จะทำการของตนเอง

ง.การบังคับซื้อที่ดินในเวลานี้ก็ มีอยู่แล้ว เช่น การทำถนน, ทางรถไฟ, ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันนี้ถือว่าถนน, ทางรถไฟ ฯลฯ เท่านั้นที่เป็นสาธารณูปโภคแต่เค้าโครงการนี้เราถือว่า การประกอบเศรษฐกิจเป็นสาธารณูปโภคเพราะถ้ารัฐบาลไม่จัดจะเป็นอันตรายต่อ ราษฎร

จ. ภาษีมฤดกนี้ไม่ใช่จะอิจฉาคนมั่งมี เป็นเพราะตามหลักนั้นคนที่มั่งมีได้สะสมเงินไว้ เงินทองนั้นได้มาก็โดยอาศัยราษฎรร่วมกัน และผู้มั่งมีได้ไว้โดยทางตรงหรือทางอ้อม การกำหนดภาษีมฤดกนั้น ถ้าผู้มั่งมีมากจนเหลือเฟือ ควรเก็บให้มาก (Supet tax) คนชั้นกลางจึงผ่อนผันเก็บแต่น้อย ทั้งนี้เพื่อมิให้กระทบผู้มั่งมีเกินไป

ฉ. ภาษียาสูบและไม้ขีดไฟนี้ ทำให้ประเทศฝรั่งเศสมีรายได้ใช้หนี้เยอรมนีเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ ได้รวดเร็ว และเงินฝรั่งเศสมีฐานะดีขึ้นก็เพราะภาษีจำพวกนี้ในเมืองเราถ้าสมมติว่ามีคน สูบบุหรี่เป็น ๑ ล้านคน เราเก็บภาษีทางอ้อมในการจำหน่ายวันละ ๑ สตางค์ ซึ่งไม่รู้สึกมากนักก็คงได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า ๓ ล้านบาท แต่การผูกขาด (Monopoly) ภาษียาสูบเกี่ยวกับสัญญาทางพระราชไมตรี ฉะนั้นเราอาจดำเนินนโยบายในการเก็บภาษีร้านจำหน่ายยาสูบ และโรงทำยาสูบโดยระวังมิให้เสียเปรียบยาสูบต่างประเทศที่ทำเข้ามา

ช. เกลือนี้อาจหาทางเก็บภาษีทางอ้อมได้ โดยรัฐบาลรับซื้อเกลือจากผู้ทำนาเกลือตามอัตราที่กำหนดไว้แล้ว ในการจำหน่ายรัฐบาลจะจำหน่ายเอง หรือให้ผูกขาด สมมติว่าในการนี้รัฐบาลได้ภาษีราษฎรคนหนึ่งวันละ ๑/๑๐ สต. ๑ ปีก็ได้เงินกว่า ๓ ล้านบาท

ซ. ผู้ที่เป็นนักเลงการพนันในเวลานี้ จะพยายามหาวิธีไม่ให้เล่นด้วย การห้ามขาดนั้นย่อมเหลือวิสัย คือคงลักลอบเล่น ฉะนั้นควรหาวิธีป้องกันคนชั้นหลังที่เล่นไม่เป็นอย่าให้เล่น ส่วนผู้ที่เล่นเป็นอยู่แล้วก็คงเล่นได้ แต่ต้องมาขึ้นทะเบียนคล้าย ๆ กับผู้ที่ติดฝิ่น ค่าธรรมเนียมอาจเก็บเป็นงวด ๆ เช่น งวดละ ๑ บาท ปีหนึ่งมี ๕ งวด สมมติว่าคนเล่นการพนันเป็นปี ๑ ล้านคน ปีหนึ่งคงเก็บค่าอนุญาตประจำตัวได้ ๕ ล้านบาท และเก็บทุก ๆ คราวที่เล่น เช่นในตำบลหนึ่ง ๆ ย่อมมีการเล่นไพ่ไม่ต่ำกว่า ๒ วงต่อ ๑ วัน ตำบลในพระราชอาณาจักรมี ๕,๐๐๐ ตำบล ต้องมีการขออนุญาตเล่นไพ่ ๑๐,๐๐๐ วง ถ้าค่าอนุญาตวงละ ๕ บาท คงได้เงินวันละ ๕๐,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งคงได้ราว ๑๘ ล้านบาท การเล่นการพนันนี้ควรกำหนดเวลาใหม่ไม่ให้เสียเวลาทำงาน ที่กำหนดเดิมแต่เที่ยงจนถึง ๒ นาฬิกานั้น จับหลักอะไรไม่ได้ ความจริงควรกำหนดระหว่าง ๑๖ นาฬิกาถึง ๒๒ นาฬิกา ส่วนเวลาอื่นผู้เล่นการพนันต้องทำงานไม่เสียในทางเศรษฐกิจ

และการเล่นพนันชนิด ต้องจำกัดให้น้อยลงทุกทีและต้องป้องกันคนชั้นหลังไม่ให้เล่นเป็น ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะนิยมการพนัน

ฌ. ในเรื่องนี้เราต้องการประสานกับคนมั่งมีไม่มีประหัตประหารคนมั่งมี

ญ. สลากกินแบ่งหรือลอตเตอรี่ แม้เป็นการพนันมีการเสี่ยงโชค แต่ผู้เสี่ยงได้เสียแต่น้อย เช่นปีหนึ่งมีลอตเตอรี่ ๓๐ ครั้ง ๆ หนึ่งล้านบาท ก็คงได้เงินที่จะหักไว้เป็นส่วนของรัฐบาลหลายล้าน และราษฎรคนหนึ่งเสี่ยงโชคครั้งหนึ่งราว ๒๐ -๕๐ สตางค์

การจัดให้มีสลากกินแบ่งนี้ คนไทยบางคนหน้าบางเกรงจะถูกติฉินนินทาว่าจัดให้เล่นการพนัน แต่ขอให้ดูตัวอย่างในฝรั่งเศสว่าใบกู้ (Credit National) ซึ่งต้องการเงินไปสร้างบ้านเมืองที่หักพังในสงคราม ก็เป็นใบกู้ชนิดที่ออกลอตเตอรี่ให้แก่ผู้ถือด้วย ในอังกฤษเองมีสนามม้าคนอังกฤษที่นิยมแข่งม้ามีจำนวนไม่น้อย แต่เราไม่ประสงค์ให้เลยไปถึงนั่น เราประสงค์มีแต่ลอตเตอรี่ซึ่งราษฎรเสียเงินคนละน้อย ๆ แต่มีโอกาสได้เงินมาก

ฎ. ธนาคารแห่งชาติจะช่วยรัฐบาลได้มาก เพราะเงินภาษีอากรที่ค้างอยู่ในคลังจังหวัด ก็จะนำมาหมุนได้ นอกจากนั้นเงินเดือนที่ข้าราชการเหลือฝากไว้ในธนาคารก็จะนำมาหมุนได้เช่น เดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นมีวิธีการหลายอย่างที่รัฐบาลจะกู้เงินธนาคารแห่งชาติได้

ฏ. นอกจากนี้ แผนในทางปกครองก็ต้องอนุโลมตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย