นายปรีดีในต่างแดน

คืนหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความมืดและเงียบสงัด เสียงตีนตะขาบของรถเกราะบดขยี้ลงบนพื้นถนนพระอาทิตย์ดังกึกก้อง แสงไฟจากรถสาดส่องไปยังทำเนียบท่าช้างสว่างจ้า ขณะนั้นเป็นเวลา 1 นาฬิกาเศษของวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เหมือนเช่นทุกคืน นายปรีดีกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ในห้องนั่งเล่นบนชั้น 2 ของทำเนียบท่าช้าง มิได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารของกลุ่ม พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ

นายปรีดีได้บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นว่า

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ [1]

นายปรีดีพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาเจ็ดเดือน ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 จึงได้เดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกงและต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยจีนคณะชาติ

เดิมนั้น นายปรีดีตั้งใจว่าจะลี้ภัยการเมืองที่ประเทศเม็กซิโก โดยเดินทางผ่านซานฟรานซิสโก แม้ว่านายปรีดีมีวีซ่าสหรัฐอเมริกาอย่างถูกต้อง แต่กลับถูกรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นพวก ซี.ไอ.เอ ขีดฆ่าวีซ่าโดยพลการ ทำให้นายปรีดีมิสามารถเดินทางไปยังเม็กซิโกได้

ประจวบกับขณะนั้น บรรดามิตรและศิษย์นายปรีดีที่ต้องการฟื้นคืนระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 วางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลรัฐประหาร นายปรีดีจึงได้เดินทางกลับประเทศไทยเป็นการลับเพื่อนำการต่อสู้

ด้วยการสกัดกั้นอย่างเต็มที่ของกองทหารรัฐบาล ซึ่งบัญชาการโดย พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย

นายปรีดีตระหนักว่า

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณอันล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้เพื่อนร่วมขบวนการข้ามแม่น้ำไปด้วยเรือ ซึ่งนายพลเรือท่านหนึ่งเป็นผู้จัดหาให้ [2]

การก่อการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ประสบความพ่ายแพ้ นายปรีดีต้องหลบภัยเป็นเวลาห้าเดือนกว่าที่บ้านของผู้รักความเป็นธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งนอกจากต้องเสี่ยงภยันตรายจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว ท่านผู้นี้มิได้มีความโลภในผลประโยชน์จากการที่รัฐบาลตั้งสินบนนำจับด้วยราคาสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของนายปรีดี [3]

เมื่อนายปรีดีเห็นว่าไม่มีทางก่อการเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย จึงตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนไปยังกรุงปักกิ่งซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพปลดแอกราษฎรจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากนั้นได้เริ่มชีวิตลี้ภัยการเมืองอันยาวนานในต่างแดน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมิได้กลับแผ่นดินเกิดอีกเลย

21 ปีลี้ภัยการเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีนและอีก 13 ปีในประเทศฝรั่งเศส เป็นชีวิตที่ผันผวนพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนและญาติมิตร ต้องอาศัยขันติธรรม ความเข้มแข็ง และความอดทนเป็นที่ตั้ง ด้วยการที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นายปรีดีเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในพุทธวจนะที่เป็นสัจธรรม อันเป็นคติเตือนใจตนตลอดเวลาว่า “อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํน นสสติ” (ผลของกรรมดีที่ก่อไว้นั้น ย่อมไม่สูญหาย) และ “ธมฺโมหเว รกฺติ ธมฺมจารี” (ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม)

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมาตราหนึ่งกล่าวไว้ว่า บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่มเหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรมจนไม่อาจจะพำนักอาศัยอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลนั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ และยินดีให้การต้อนรับพำนักอาศัยในประเทศจีนในฐานะมิตรและแขกผู้มีเกียรติด้วยความสะดวกสบาย

ด้วยเหตุดังกล่าว จากการงานและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรมมากหลาย นายปรีดีจึงได้รับเกียรติจากทางจีนที่ได้ให้การต้อนรับ ความรู้สึกมิตรไมตรีของจีนนี้ ทำให้นายปรีดีได้อุทิศกำลังกายและใจในการฟื้นฟูมิตรภาพระหว่างราษฎรจีน-ไทยอยู่ตลอดเวลา [4]

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ประธานเหมาเจ๋อตงได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ประตูเทียนอันเหมิน นายปรีดีได้รับเชิญเป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีสถาปนาประเทศจีนใหม่ในวันอันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ ซึ่งในพิธีนั้นมีแขกชาวต่างประเทศเพียงไม่กี่สิบคน

นายปรีดีเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ รวมทั้งผลงานของเมธีทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เช่น มาร์กซ เองเกลส์ เลนิน สตาลิน และเหมาเจ๋อตง ในเชิงเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยทุกแง่ทุกมุม ระบอบเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะสังคม ประวัติศาสตร์ ชนชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ฯลฯ แล้วได้เรียบเรียงเป็นบทความ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในโอกาสต่อมา

ความเป็นอนิจจังของสังคม เป็นผลงานชิ้นสำคัญของนายปรีดีที่นำพุทธปรัชญามาวิเคราะห์วิวัฒนาการของมนุษยสังคม

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง…พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไป แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย

ถึงแม้รัฐบาลจีนให้การต้อนรับเยี่ยงอาคันตุกะ แต่นายปรีดีก็ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายสมถะและติดดิน ทำการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรจีน โดยเฉพาะสนใจในปัญหาชาวไร่ชาวนาและเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในช่วงแรก ๆ ที่พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง และช่วงหลังที่พำนักอยู่ในนครกวางโจว เมื่อมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสหกรณ์และคอมมูนประชาชนอยู่เนือง ๆ เรียนรู้การจัดตั้งและการจัดการของชาวไร่ชาวนา การคิดค้นเครื่องมือดำนา การใช้ปุ๋ยและการเลี้ยงสัตว์ เป็นอาทิ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมเหมืองถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็กกล้า โรงงานผลิตเครื่องจักรกล โรงงานสร้างรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนอยู่ในความสนใจของนายปรีดีทั้งสิ้น ศึกษาวิเคราะห์และหาข้อสรุป ทั้งนี้เพื่อพิจารณาหาข้อดีข้อเสียตามความเหมาะสมแก่สภาพท้องที่ กาละของแต่ละสังคม โดยยึดมั่นว่าสิ่งใดที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับประเทศจีน ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งต่อมานายปรีดีได้สรุปให้บรรดาศิษย์ฟังว่า

สิ่งใดของอังกฤษหรือฝรั่งเศสหรือประเทศใด ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี เราก็ย่อมที่จะเอามาเพียงเป็นเยี่ยงอย่างแล้วปรับปรุงให้เหมาะสมแก่สภาพท้องที่ กาลสมัยของไทย และมีส่วนที่เราเห็นว่าเหมาะสมของเราเอง ปรุงแต่งขึ้นเพื่อของไทยเราโดยเฉพาะ [5]

นายปรีดียึดสุภาษิตโบราณของจีนทีว่า “จงตัดเกือกให้เหมาะแก่ตีน ไม่ใช่ตัดตีนให้เหมาะแก่เกือก”

ความสนใจของนายปรีดีหลากหลาย รวมทั้งชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย ครั้งหนึ่งได้ไปเยือนมณฑลกวางสี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงในกวางสี) ทำให้ได้รู้จักชนชาติจ้วงในฐานะคนไทที่มีรากเหง้าทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเดียวกับไทย ก่อนหน้านี้นายปรีดีมักตั้งคำถามอยู่เสมอถึงถิ่นกำเนิดไทยที่บ้างว่ามาจากเทือกเขาอัลไต บ้างก็ว่าอาณาจักรน่านเจ้า ตามข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีชาวไทยและต่างประเทศบางท่าน เมื่อได้ไปสำรวจและศึกษาเขตต้าหลี่ ในมณฑลหยุนหนานแล้ว มีความกระจ่างว่า อาณาจักรน่านเจ้า (หรือ “หนาน-เจา” ) นั้นเป็นถิ่นฐานของชาวไป๋หยีมาเป็นเวลาช้านานนับพัน ๆ ปี ภาษาและวัฒนธรรมของชาวไป๋หยีแตกต่างกับชนชาติไทยโดยสิ้นเชิง ดังนั้นอาณาจักรน่านเจ้าจึงมิใช่เป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย

ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน นายปรีดีได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคและรัฐบาลจีน ประธานเหมาเจ๋อตุง นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล จอมพลเฉินยี่ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเติ้งเสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนมีไมตรีจิตมิตรภาพอันดี นอกจากนี้นายปรีดียังได้พบปะสนทนากับผู้นำกอบกู้เอกราชของชาติในอินโดจีน อาทิ ประธานโฮจิมินห์ นายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดง เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าสุภานุวงศ์ และเจ้าสีหนุ โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างนายปรีดีกับประธานโฮจิมินห์นั้น ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยที่ท่านผู้นี้ต่อสู้กับฝรั่งเศส

ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศจีน นายปรีดีอยู่อย่างมีเกียรติ รักษาเกียรติภูมิ มีคุณธรรม รักษาผลประโยชน์ของประเทศและราษฎรไทย บนพื้นฐานหลักการที่เคารพซึ่งกันและกัน และความถูกต้อง บางครั้งมีคนบางกลุ่มได้ใช้ความพยายามเรียกร้องให้นายปรีดีตกลงเห็นคล้อยตามความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของทางจีน ขอให้นายปรีดีเห็นด้วยและปฏิบัติตาม ซึ่งนายปรีดีเห็นว่าจะเป็นทางเสียหายและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ก็ได้ชี้แจงตอบโต้ไม่เห็นด้วยกับความคิดอันผิดพลาดไม่ถูกต้องของบุคคลเหล่านั้นอย่างเด็ดเดี่ยว และในที่สุด ผู้นำจีนคือ ประธานเหมาเจ๋อตุง และนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ชี้แจงให้นายปรีดีทราบว่า ความคิดของบุคคลเหล่านั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และเป็นความเห็นส่วนตัวของเขาเหล่านั้นเอง ซึ่งผู้นำจีนมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติใหญ่หรือชาติเล็ก ย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และได้มีการตำหนิโทษพวกที่เสนอความเห็นเหล่านั้นด้วย [6]

ด้วยความเข้าใจอันดีจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ที่ได้พยายามถามไถ่ทุกข์สุขของนายปรีดีอยู่เสมอตลอดมา ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 โจวเอินไหลได้อำนวยความสะดวกให้นายปรีดีเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส เพื่อให้บุตรหลานและญาติมิตรร่วมฉลองครบรอบปีที่ 70 จึงเป็นการสิ้นสุดการพำนักลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน

ด้วยความช่วยเหลือจากนายกีโยม จอร์จ-ปีโก (Guillaume Georges- Picot) มิตรเก่าที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตถาวรของประเทศฝรั่งเศส และโดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี เดอ โกลล์ (Charles De Gaulle) นายปรีดีได้พำนัก ณ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายชีวิตอย่างสันติสุข

ภายหลังที่เดินทางไปถึงกรุงปารีสแล้ว นายปรีดีได้ยื่นคำร้อง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เพื่อให้รับรองสภาพการมีชีวิตและหนังสือรับรองลายมือชื่อในใบมอบฉันทะเพื่อให้ญาติทางกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนเบิกและรับบำนาญแทน แต่ทางสถานทูตไทยประจำกรุงปารีสปฏิเสธคำร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2513 นายปรีดีได้ทำการฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับพวก ในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยจงใจแกล้งไม่ออกหนังสือรับรองสภาพการมีชีวิตของนายปรีดีเพื่อขอรับบำนาญ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำผิด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งกฎบัญญัติองค์การสหประชาชาติ ในที่สุดจากการไกล่เกลี่ยของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงเป็นที่สุดด้วยการยินยอมพร้อมใจกันยอมความ โจทก์จึงได้ถอนฟ้อง ผลต่อมารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีคำสั่งให้สถานทูตไทยในปารีสออกหนังสือเดินทางให้นายปรีดีอีกด้วย [7]

การได้รับความรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับบำนาญทางราชการ ย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงการรับรองในความบริสุทธิ์และสุจริตของนายปรีดี เฉกเช่นข้าราชการนอกประจำการผู้สุจริตคนอื่น ๆ ทั้งหลาย นอกจากนั้น บำนาญอันน้อยนิดบวกกับเงินก้อนจากการขายบ้านสีลมและบ้านสาทร ได้จุนเจือนายปรีดีและครอบครัวให้ยังชีพในประเทศฝรั่งเศสด้วยวิถีชีวิตเรียบง่ายและสมถะต่อไป

การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของนายปรีดีหาได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ไม่ หากท่านยังจำต้องต่อสู้เพื่อหาความเป็นธรรมต่อไปอีกหลายครั้งหลายครา อาทิ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2513 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอำนาจให้นายวิชา กันตามระ เป็นตัวแทนมีอำนาจเต็มฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายสำเนียง ขันธชวนะ, นายประจวบ ทองอุไร, และนายประหยัด ศ. นาคะนาท ซึ่งร่วมกันไขข่าวแพร่หลายทางหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ รายวันฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2513 ภายใต้หัวเรื่องว่า “แง่คิดจากข่าว” โดย ส.ธ.น. และทางหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2513 ภายใต้หัวเรื่องว่า “ป๋วย-ปรีดี???” โดย ส.ธ.น. และเอกสารหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทย์ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายสำเนียง ขันธชวนะ นายประจวบ ทองอุไร และนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดโจทก์ ตามคดีดำหมายเลขที่ 7236/2513 เนื่องจากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2513 และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2513 ลงข้อเขียนซึ่งเขียนโดยนายสำเนียง ขันธชวนะ ใช้นามปากกาว่า ส.ธ.น. ซึ่งมีใจความว่าโจทก์พัวพันในคดีสวรรคตนั้น

จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิด เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์

ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีการรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริง และขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย

บริษัทสยามรัฐ จำกัด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสำเนียง ขันธชวนะ
นายประจวบ ทองอุไร
นายประหยัด ศ. นาคะนาท

นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายวิชา กันตามระ เป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องนายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย ในนามบริษัทไทยเดลี่ จำกัด, นายสาร บรรดาศักดิ์, นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย, และนายจำนง แก้วโสวัฒนะ ตามคดีหมายเลขดำที่ 113/2514 ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่บทความในคอลัมน์ตอบปัญหาขัดข้องหมองใจโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “ขวานทอง” ในหนังสือพิมพ์ ไทยเดลี่ ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2513

ประกาศ

ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัทไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด ที่ 1 นายสาร บรรดาศักดิ์ ที่ 2 นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย ที่ 3 และนายจำนง แก้วโสวัฒนะ ที่ 4 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหมิ่นประมาทโดยใส่ความ ทำให้โจทก์เสียหายตามคดีหมายเลขดำที่ 113/2514 เนื่องจากหนังสือพิมพ์ หลักเมือง สมัยไทยเดลี่ ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2513 หน้า 8 ลงข้อความซึ่งเขียนโดยจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าขวานทอง ในคอลัมน์ตอบปัญหาขัดข้องหมองใจ เป็นการหมิ่นประมาทนายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า เป็นคนลืมชาติกำเนิดของตนเอง ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จะเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักประชาธิปไตยไม่ได้ และเป็นอ้ายโจรปล้นราชบัลลังก์ มีการพัวพันในกรณีสวรรคตด้วยนั้น

บัดนี้ ข้าพเจ้าจำเลยทั้งสี่คน ได้รู้สึกสำนึกว่าข้อความที่จำเลยเผยแพร่ข้างต้นนั้น มิได้มีมูลความจริงแต่ประการใดเลย

ข้าพเจ้าจำเลยทุกคนจึงขออภัย นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โจทก์ ที่ถูกข้าพเจ้าทั้งหลายใส่ความด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้กรุณาให้อภัยและถอนฟ้องคดีแล้ว

นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย
ในนามบริษัทไทยเดลี่การพิมพ์ จำกัด จำเลยที่ 1
นายสาร บรรดาศักดิ์ จำเลยที่ 2
นายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย จำเลยที่ 3
นายจำนง แก้วโสวัฒนะ จำเลยที่ 4

เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2521 ศาลแพ่งได้รับฟ้องคดีที่นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้องนายรอง ศยามานนท์, บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ร่วมกันพิมพ์หนังสือที่นายรอง ศยามานนท์ แต่งขึ้นชื่อ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ

สัญญาประนีประนอมยอมความ

ข้อ 1 ตามที่จำเลยทั้งสามได้พิมพ์และจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือที่จำเลยที่ 1 แต่งขึ้น ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2520 อันมีข้อความคลาดเคลื่อนต่อความจริงบางประการนั้น บัดนี้จำเลยได้ทราบความจริงจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์ได้ยื่นต่อศาลเป็นพยานเอกสาร และเหตุผลที่โจทก์ชี้แจงประกอบไว้แล้ว จำเลยจึงยอมส่งมอบหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฉบับพิพาทในคดีนี้ที่อยู่ในความปกครองของจำเลย และที่จำเลยสามารถเก็บคืนได้นั้น มาส่งมอบให้ต่อศาลเพื่อทำลาย และถ้าหากโจทก์ได้พบเห็นหนังสือดังกล่าวอยู่ ณ ที่ใด โจทก์มีสิทธิที่จะซื้อหนังสือเล่มนั้นมาส่งศาลเพื่อทำลาย โดยจำเลยต้องรับผิดในค่าหนังสือนั้น

ข้อ 2 จำเลยยอมรับว่า จะไม่เขียนหรือพิมพ์ซ้ำข้อความตามหนังสือเล่มนั้นออกจำหน่ายจ่ายแจกอีกต่อไป ถ้าจะเขียนหรือพิมพ์โดยแก้ไขใหม่เพื่อจำหน่ายก็จะให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและเหตุผลตามเอกสารที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้อง ถ้าหากจำเลยจะส่งร่างที่แก้ไขเพื่อให้โจทก์ตรวจเพื่อความถูกต้องเกี่ยวกับตัวโจทก์ โจทก์ก็ยินดีจะให้คำแนะนำเมื่อโจทก์มีเวลาว่าง และมีสุขภาพสมบูรณ์ที่จะช่วยเหลือได้

ข้อ 3 จำเลยยอมลงโฆษณาใจความสัญญาประนีประนอมตามประกาศแนบท้ายสัญญานี้ในหนังสือพิมพ์ มติชน และ สยามรัฐ รายวันหน้าหลังของแต่ละฉบับมีกำหนด 3 วัน โดยให้ลงติดต่อกันด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยไม่จัดการโฆษณา โจทก์มีสิทธิ์จะนำลงโฆษณาได้ โดยจำเลยต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้น

ข้อ 4 จำเลยยินดีมอบเงินให้แก่โจทก์เพื่อสมทบทุนลูกจันทน์ พนมยงค์ ซึ่งเป็นทุนการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันนี้

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ศาลแพ่งได้รับฟ้องคดีที่นายปรีดี พนมยงค์ โดย นายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, นายบัญชา คูหาสวัสดิ์, ห้างหุ้นส่วนจำกัดศึกษาสัมพันธุ์, ห้างหุ้นส่วนจำกัดประพันธ์สาส์น ได้สมคบกันพิมพ์และจำหน่ายเผยแพร่ซึ่งหนังสือที่นายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ แต่งขึ้นชื่อ ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์

คำประกาศขอขมา

ข้าพเจ้านายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด ประพันธ์สาส์น จำเลยที่ 4 ขอแถลงความจริงว่าโจทก์เป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ เป็นที่เห็นประจักษ์ ดังได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องโจทก์ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ตามประกาศพระบรมราชโองการ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2488 นั้นแล้ว และการที่โจทก์หลบหนีออกนอกประเทศนั้น เพราะหลบหนีภัยรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ลงชื่อ นายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จำเลยที่ 1
ลงชื่อ ประพันธ์ เตชะธาดา ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดประพันธ์สาส์น จำเลยที่ 4
สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายจำเลย

จากคำพิพากษาศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 5810/2522

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ในฐานะอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และอดีตนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ ได้ทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกรณีที่คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2519 ได้มอบรางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี 2518 ประเภทสารคดี ให้ไว้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ซึ่งแต่งโดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี นอกจากนั้นนายปรีดียังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 8586/2523 ฐานโฆษณาหนังสือที่มีข้อความฝ่าฝืนความจริงทำให้โจทก์เสียหาย

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติขึ้น ตามคำแนะนำขององค์การศึกษาสหประชาชาติ และคณะกรรมการคณะนี้ได้รับหน้าที่ดำเนินการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติสืบต่อมา คณะกรรมการดังกล่าวนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการรับช่วงงานต่อ ๆ กันไป

เมื่อ พ.ศ. 2519 คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประเภทสารคดี ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2518 ประเภทสารคดีแก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยพลโท ประยูร ภมรมนตรี และคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2519 ได้ให้สิ่งที่เป็นหลักฐานแก่สำนักพิมพ์นั้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ภาพไว้ในหน้าต้นแห่งหนังสือเล่มนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522 นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่ามีข้อความมากมายหลายประการในหนังสือเล่มนั้นที่ฝ่าฝืนความจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐาน และไม่สมเหตุสมผลแห่งหนังสือประเภทสารคดีตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้กำหนดไว้

กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อผดุงไว้และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเพื่ออนาคตแห่งกุลบุตรกุลธิดาของชาติไทย เห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดี และเพื่อให้ความเสียหายที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับจากคำจูงใจของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นกลับคืนดี กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดี ที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโท ประยูร ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือดีเด่น ประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2518 และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519 ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจนั้นด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2523
นายสิปปนนท์ เกตุทัต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประกาศเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนรางวัลชมเชยหนังสือชื่อ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า เรียบเรียงโดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี
และคำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง จำเลยที่ 2

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประจำปี 2519 ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตัดสินและให้เอกสารหลักฐานรางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2518 ประเภทสารคดี แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า เรียบเรียงโดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งได้โฆษณาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปนั้น

นายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจ เทรดดิ้งเป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 8586/2523 ฐานโฆษณาหนังสือที่มีข้อความฝ่าฝืนความจริงทำให้โจทก์เสียหาย

กระทรวงศึกษาธิการจำเลยที่ 1 โดยนายสิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ได้มีประกาศลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 เพิกถอนการให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มที่ พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี เรียบเรียง และเพิกถอนเอกสารหลักฐานที่ให้แก่ ห.ส.จ. บรรณกิจเทรดดิ้งนั้นแล้ว

ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง ขอรับผิดที่ได้โฆษณาหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับความเสียหาย และยอมส่งมอบหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดินฯ ที่เหลืออยู่อีก 1 พันเล่ม ต่อศาลแพ่งเพื่อทำลาย และได้ทำสัญญาประนีประนอมต่อศาลยอมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องทุกประการ

ศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2525 ให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว

ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง จำเลยที่ 2 จึงประกาศขอขมานายปรีดี พนมยงค์ ณ ที่นี้ พร้อมทั้งได้นำประกาศกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ไว้ต่อท้ายคำขอขมาของห้างฯ ด้วย

ประกาศมา ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2525
ลงชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรกิจเทรดดิ้ง จำเลยที่ 2

เมื่อมีผู้ประสงค์ร้าย ทำการใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์อันปราศจากมูลความจริง การฟ้องร้องขอความเป็นธรรมโดยพึ่งศาลสถิตยุติธรรม เป็นวิธีการต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองโดยวิธีสันติที่นายปรีดีเลือกปฏิบัติ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นในสัจจะตามพุทธวจนะ “สัจจังเว อมตา วาจา”

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป นายปรีดีแม้อยู่ต่างบ้านต่างเมือง แต่ใจแนบแน่นอยู่กับบ้านเกิดเมืองนอนเสมอมา ได้ใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถเสนอแนะรัฐบาลให้ดำเนินการบางประการเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ตลอดทั้งให้ข้อคิดแก่นิสิตนักศึกษาและราษฎรที่รักประชาธิปไตย ร่วมกันต่อต้านการฟื้นคืนของระบอบเผด็จการ

นายปรีดีได้เขียนบทความหลายเรื่องอันเป็นการปูพื้นฐานความคิดประชาธิปไตยให้แก่ราษฎร ดังเช่นบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยเบื้องต้นสำหรับสามัญชน” ได้กล่าวไว้ว่า

การที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมติได้ ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้น ต้องมี ‘สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน’ อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ ‘สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค’ ซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและหมู่อื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม

หลังจากที่นักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของถนอม-ประภาส เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นายปรีดีมีความห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ข้าพเจ้าขอร้องว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเคารพเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชนชาวไทย ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม และตรงกับ “สังคมสัญญา” ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับปวงชนชาวไทยที่พระองค์ทรงโอนพระราชอำนาจเพื่อให้ประชากรของพระองค์ ‘ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์’ ดังปรากฏในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกร่างขึ้นโดยพระองค์เอง

นอกจากนี้ยังได้เสนอวิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย

โดยให้ราษฎรมีสิทธิถอดถอนผู้แทน (Recall), ให้รัฐจ่ายค่าป่วยการแก่ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง, วิธีเลือกตั้งที่ไม่ซับซ้อน, ไม่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรค, สภาเดียว

ซึ่งนายปรีดีได้กล่าวต่อไปอีกว่า

ความคิดเห็นของข้าพเจ้าที่แสดงไว้นั้น บางเรื่องอาศัยจากการที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาทางตำราแต่ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติในประเทศไทย บางเรื่องเคยปฏิบัติในประเทศไทยและในต่างประเทศ บางเรื่องข้าพเจ้าได้คิดขึ้นเองคือการให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่เดินทางมาลงคะแนนเสียง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐมีเงินนอกงบประมาณพอจ่ายได้ในการเลือกตั้ง 25 ครั้งในรอบ 100 ปีนี้ ฯลฯ [8]

จากประสบการณ์และการศึกษาค้นคว้าอดีตและปัจจุบันของประเทศไทยและต่างประเทศ นายปรีดีได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและระบบการเมืองไว้ว่า

เศรษฐกิจเป็นรากฐานสำคัญแห่งมนุษยสังคม ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงร่างเบื้องบน ที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้นและประเทศชาติก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน [9]

เมื่อสังคมไทยเกิดวิกฤตการณ์ระบบเผด็จการอาจฟื้นคืน “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” เป็นอีกบทความหนึ่งที่นายปรีดีได้เสนอเมื่อเดือนตุลาคม 2517

ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้น ไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งแขนงนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้วสิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไป โดยมาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้ ดั่งปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างกาย, ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร” และได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบอบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้

หลังจากบทความนี้ตีพิมพ์เพียงสองปี ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้อุบัติเหตุการณ์ที่กลุ่มเผด็จการทหารทำการปราบปรามนักศึกษาประชาชนอย่างเหี้ยมโหดทารุณ สนามหลวงและสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นทุ่งสังหารนักศึกษาประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ นักศึกษาและประชาชนถูกจับกุมคุมขัง บางคนเมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ได้เข้าป่าจับอาวุธต่อสู้ สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และเพื่อนอีกเก้าคนยังคงถูกจองจำในเรือนจำ นายปรีดีจึงร่วมกับคนไทยในต่างแดนร่วมกันเซ็นชื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมสุธรรมและเพื่อน [10]

ขณะพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดีได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาของสมาคมนักเรียนต่าง ๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสามัคคีสมาคมในสหราชอาณาจักร สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส หรือแม้แต่นิสิตนักศึกษาในประเทศไทยและชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ขอบทความและคำขวัญ ซึ่งนายปรีดีได้สนองตอบด้วยความยินดีและเต็มใจ

ผมมีความยินดีจะสนองศรัทธาเท่าที่จำได้ แต่ก็จำต้องขอความเห็นใจล่วงหน้าว่าในบรรดาเรื่องที่ท่านจะซักถามผมนั้น อาจมีเรื่องที่ผมไม่รู้หรือเกินสติปัญญาของผม ผมก็ต้องผลัดคำตอบไว้ในโอกาสหน้า ภายหลังที่ผมได้ค้นคว้าศึกษาเสียก่อน และก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่า เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องขอผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม [11]

”เริง รังสี” นักเรียนไทยในฝรั่งเศสได้เล่าเรื่องราวของบุคคลที่พวกเขาเรียกว่า “ท่านอาจารย์” ไว้ว่า

ทั้งท่านอาจารย์และคุณป้ามีความทรงจำดีมาก ท่านอาจารย์ยอมรับทั้งข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากท่านถ้ามีเหตุผลพอ ทุกครั้งที่เราไปคุยกับท่าน เรามีความรู้สึกเหมือนกับได้คุยกับญาติผู้ใหญ่และครูอาจารย์ ในเวลาเดียวกันท่านให้ความเมตตา เป็นกันเอง ท่านสั่งสอน แนะนำ ถ้ามีสิ่งใดที่เรายังไม่รู้แจ้ง ท่านก็จะบอกให้ไปหาความรู้ศึกษาเพิ่มเติม…

ท่านพูดสั่งสอนอยู่เสมอว่า จะต้องเป็นคนมีจิตใจเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องไม่เชื่อเรื่องที่เป็นคำบอกเล่า หรือคำที่เขา ‘กล่าวกันว่า’ (hearsay) ท่านย้ำอยู่บ่อย ๆ ในข้อนี้ ท่านสอนว่าจะต้องค้นคว้าหาความรู้จาก authentic document ไม่ใช่จากที่เขาอ้างกันต่อ ๆ มา

ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นคนที่ทันสมัย ท่านติดตามข่าวคราวบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทยหรือข่าวต่างประเทศ ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส (หลายฉบับไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา) ภาษาไทย (ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน) ท่านฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ท่านไม่ได้มองอะไรอย่างฉาบฉวย กาลเวลาและเหตุการณ์ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบางสิ่งบางอย่างที่ท่านเคยพูดไว้เป็นจริงตามนั้น

ความรักชาติ เป็นห่วงบ้านเมืองไทยของท่านอาจารย์เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อสงสัย ท่านมักจะคุยกับนักเรียนถึงเรื่องนี้ ความรักชาติของท่านไม่จำเป็นต้องอ้างชื่อ ‘ประชาชน’ ’มวลชน’ เหมือนดั่งที่ใคร ๆ เอ่ยกันจนน้ำลายไหล สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ท่านก็ไม่รีรอที่จะปฏิบัติรับใช้บ้านเมือง แต่ก็มีผู้ใจอคติ โง่และอวดรู้ ใส่ไคล้ท่านอยู่เสมอ [12]

นายปรีดีนับถือและเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของราษฎร ดังนั้นจึงให้คติหนุ่มสาวปัญญาชนสยามว่า

ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกอาชีพย่อมมีนักวิชาการของตน และมีปัญญาพอวินิจฉัยได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญใดเป็นประโยชน์แก่อาชีพของตนและแก่ส่วนรวมของชาติ ข้าพเจ้าได้เคยชี้แจงแก่นักเรียนไทยในอังกฤษในการชุมนุมที่สมาคมนั้นเรียกว่า ‘สภากาแฟ’ ซึ่งดำเนินไปเมื่อวันที่ 26 และ 27 ก.ค. 2516 นั้น ขอให้นักเรียนทุกคนซึ่งมีความรู้ทางทฤษฎีสูงเพียงใดก็ตาม จงอย่าประมาทปัญญาของมวลราษฎรที่แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความสันทัดจัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งนักเรียนควรศึกษา เพราะมีหลายปัญหาที่ตำราทางทฤษฎีไม่กล่าวไว้ แต่เราสามารถศึกษาได้จากมวลราษฎร [13]

และเพื่อให้มีความเข้าใจสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ นายปรีดีได้หยิบเอาคติพุทธศาสนาที่สมัยก่อนเคยจารึกไว้ในประกาศนียบัตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาว่า “สุ.จิ.ปุ.ลิ” หรือ โคลงที่ท่องจำตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาว่า

สุ เสาวนิตย์ถ้อย ทั้งผอง
จิ เจตนาตรอง ตริค้น
ปุ จฉาลอง เลาเลศ
ลิ ขิตข้อคำต้น เกี่ยงแก้กันลืม

โดยอธิบายว่า นี่

คือวิธีเข้าสู่สภาพเป็นบัณฑิตหรือปัญญาชนนั้นเมื่อรับฟัง (สุ) เรื่องใดแล้วก็ต้องใช้สมองเคลื่อนไหวอีกชั้นหนึ่ง คือ ตรึกตรอง (จิ) ว่าตามเหตุผลจะเป็นไปได้อย่างไรเพื่อสอบให้แน่นอนก็ตาม (ปุ) แล้วจึงขีดเขียน [14]

นายปรีดีปฏิบัติตนเยี่ยงครูสอนศิษย์ ผู้ใหญ่สอนลูกหลานอีกว่า

เพื่อประกอบการพิจารณาของนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรที่รักชาติในวิธีการรักษาและพัฒนาเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมนั้น ข้าพเจ้าเสนอให้ท่านทั้งหลายศึกษาความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรและคณะอื่น ๆ ที่ปรากฏในทางประวัติศาสตร์ว่า ไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ และไม่อาจพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพื่อท่านทั้งหลายจะอาศัยบทเรียนไม่ทำการพลาดซ้ำอีก และในขณะเดียวกัน ก็ควรศึกษาถึงวิธีการที่คณะหรือองค์การอื่นสามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้อย่างมั่นคง แล้วสามารถพัฒนาก้าวต่อไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อนำเอาความถูกต้องมาประยุกต์ตามสภาพท้องที่กาลสมัยของประเทศไทย [15]

นายปรีดียอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานในความผิดพลาดแต่หนหลังของตนว่า

ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทำผิดในการเสนอคณะราษฎร ให้เชิญพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพราะสมาชิกคณะราษฎรอื่นๆ มิได้คุ้นเคยกับพระยามโนปกรณ์ฯ มาก่อนเท่าข้าพเจ้า… ความผิดพลาดของข้าพเจ้าดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นบทเรียนของศูนย์นิสิตนักศึกษาและนักเรียนชนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก โดยต้องวิจารณ์ลักษณะอันเป็นธาตุแท้ของบุคคลที่จะร่วมมือ หรือมอบหมายในการรักษาและพัฒนาชัยชนะก้าวแรกของวีรชน คือบางคนอาจแสดงความเป็นประชาธิปไตยชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อถึงระยะที่จะพัฒนาชัยชนะต่อไปแล้ว ก็อาจจะดำเนินไปตามทรรศนะอันเป็นซากแห่งความคิดเก่าของตนที่ตกทอดมา อันเป็นการบั่นทอนไปถึงรากฐานแห่งการที่จะรักษาชัยชนะที่ได้มาในก้าวแรกนั้นด้วย [16]

นายปรีดียังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า

การที่บุคคลจะเข้าใจปรัชญาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ได้ก็ต้องมี ’จิตใจ-วิทยาศาสตร์’ (Scientific Spirit) ซึ่งมี 6 ประการดังนี้คือ

ก. จิตใจสังเกต
ข. จิตใจมาตรการ
ค. จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยา
ง. จิตใจพิเคราะห์หรือวิจารณ์
จ. จิตใจปราศจากอคติ
ฉ. จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ [17]

ในมุมกลับกัน คนไทยในต่างแดน นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่มีทรรศนะต่อนายปรีดีเช่นใด ผู้ใช้ชื่อว่า P. SANSAWANG ได้บันทึกข้อคิดจากการพบนายปรีดี พนมยงค์ และการปราศรัยกับคนไทยที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2513 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร จตุรัส มีความตอนหนึ่งว่า

ครั้งแรกที่ได้เห็นนายปรีดี ผู้เขียนเองรู้สึกประหลาดใจที่เห็นท่านไม่แก่อย่างที่คาดไว้ แต่งกายด้วยชุดสากลสีเทา ท่านนั่งอย่างสำรวมและยิ้มอ่อนโยนในบางครั้ง พูดอย่างธรรมดา ๆ ด้วยเสียงค่อนข้างเบาแต่ชัดเจนดี สายตาเหม่อมองเพดานบ่อยครั้งเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่แล้วมาและบางครั้งเมื่อพยายามลำดับข้อเท็จจริงเมื่อถูกถาม ก็หันไปถามท่านผู้หญิงพูนศุขเพื่อความแน่ใจ ท่านตอบคำถามอย่างตั้งใจและด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มิได้เน้นถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และถ่อมตัวด้วยการตำหนิตนเองในความแข็งทื่อถือดีในขณะดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เมื่อพูดถึงมิตรและศัตรู ท่านเอ่ยถึงโดยใช้ตำแหน่งเต็ม และไม่ปรากฏว่าได้ใช้ถ้อยคำที่ไม่บังควรแม้แต่ครั้งเดียว ท่านกล่าวถึงหลักการแต่พอเป็นเค้าและยึดอยู่ในหลักความเป็นอนิจจังของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวถึงวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของสากลโลก ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเอาเปรียบ (Exploitation) นั้น ท่านถือเป็นเพียงหมายเหตุเท่านั้น และไม่พยายามที่จะโยงเข้ากับลัทธิชาตินิยมแต่อย่างใด การปราศรัยจบลงอย่างเรียบ ๆ รู้สึกว่าผู้ฟังต่างพอใจ และชื่นชมยินดีอย่างเห็นได้ชัด

ผู้ใช้นามว่า P. SANGSAWANG ยังได้เขียนเล่าอีกว่า

การที่ท่านพูดอย่างตั้งใจและถ่อมตัว ก่อให้เกิดความนิยมนับถือ ถึงแม้จะเหินห่างไปบ้าง แต่ที่ท่านยังสามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างเฉียบแหลมอยู่ทั้งในทางการเมืองและสังคม ทำให้ผู้ฟังต่างตระหนักว่า ท่านยังไม่ถึงกับหลงลืมหรือฟั่นเฟือน ที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ การนับถือในบุคคลที่ท่านมีต่อมิตรและศัตรู นับแต่ท่านประธานเหมา หม่อมราชวงศ์เสนีย์และคึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และมิตรผู้ร่วมก่อการเมื่อปีพุทธศักราช 2475 การปรบมือตอบรับอย่างยาวนาน แสดงว่าท่านได้ชนะจิตใจของผู้ฟังกลุ่มใหญ่อย่างแท้จริง

วจีและการประพฤติปฏิบัติของนายปรีดีมิเพียงแต่ชนะใจคนหนุ่มสาวชาวสยาม วลีที่ว่า “ข้าพเจ้าเทอดทูนชาติไทยสูงสุดกว่าชาติใด” [18] ได้รับการยอมรับจากมวลมิตรนานาประเทศ

ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตแทน (Lord Louis Mountbattan) อดีตผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทหารสัมพันธมิตรประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นพระปิตุลาของเจ้าชายฟิลิปส์ ดยุก แห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้เชิญให้นายปรีดีกับภรรยาไปเยือนและพำนักที่คฤหาสน์ Broadlands ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2513

นายปรีดีรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรอยู่เสมอมา กับสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งได้เชิญให้นายปรีดีไปร่วมงานวันชาติของประเทศเหล่านั้น

นอกจากนี้ในบทบาทที่นายปรีดีเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมสหประชาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น คราใดที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ มักจะมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว A.P. บ้าง A.F.P. บ้าง Reuter บ้าง BBC บ้าง หนังสือพิมพ์ Le Monde บ้าง หนังสือพิมพ์ The Herald Tribune บ้าง หนังสือพิมพ์ Bangkok Post บ้าง สัมภาษณ์ถามความคิดเห็นของนายปรีดีอยู่เสมอ ซึ่งนายปรีดีให้ข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นคำให้สัมภาษณ์ J. Armand-Prevost เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 “ปารีส, 28 กรกฎาคม (A.F.P.) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงต่อผู้แทนแห่ง A.F.P. วันนี้ในการสัมภาษณ์กรณีเยือนปักกิ่งของประธานาธิบดีนิกสันที่จะมีขึ้น

ข้าพเจ้าเชื่อความจริงใจของผู้นำจีน ในการคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ระหว่างประเทศที่มีระบบการเมืองต่างกัน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าประธานาธิบดีนิกสันมีความจริงใจเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะเขาตกเป็นเชลยแห่งความคิดรุกรานมาช้านาน แน่นอน การเยือนนี้ก่อให้เกิดก้าวหนึ่งไปข้างหน้าและเป็นสิ่งที่ดีให้ ถ้าประธานาธิบดีนิกสันเป็นผู้เห็นแก่สภาพแท้จริง ก็เป็นวิธีเดียวที่จะลุล่วงทางตันในปัญหาเอเชียอาคเนย์ คือการไปพบผู้นำจีน แต่จะต้องรอคอยระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบางทีอาจนานหน่อย ที่จะได้ผลในการพบปะกันนั้น

หรือบทสัมภาษณ์ของ คลอเดีย รอสส์ (Claudia Ross) ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2517 ที่เริ่มต้นด้วยคำปรารภของผู้สัมภาษณ์ว่า

ข้าพเจ้า (หมายถึงผู้สัมภาษณ์-ผู้เรียบเรียง) ทำความประหลาดใจให้ ดร. ปรีดีที่เต็มใจตกลงสนทนากับข้าพเจ้า แต่ภายหลังที่ได้แนะนำโดยย่อทางโทรศัพท์แล้ว ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีที่บ้านพักปารีสของรัฐบุรุษไทยที่น่าสนใจที่สุด

ดร. ปรีดีกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าขอร้องท่านอย่างหนึ่ง คือโปรดลงพิมพ์ตรงตามที่ข้าพเจ้าพูด ท่านรู้อยู่แล้วว่าถ้อยคำถูกบิดเบือนบ่อย ๆ โดยตั้งใจหรือโดยประการอื่น’

ดังนั้นข้าพเจ้า (ผู้สัมภาษณ์) จึงเปิดเครื่องอัดเสียงบันทึกลงในเทปพร้อมทั้งเสียงของจักรยานยนต์ รถบรรทุกและรถดับเพลิงที่ผ่านไปมา ถ้อยคำของบุคคลที่ต้องถูกเนรเทศ 21 ปี ยังเรียกประเทศไทยว่า ‘บ้านเมืองของข้าพเจ้า’

บั้นปลายชีวิต นายปรีดีสนใจศึกษาพุทธศาสนาเหมือนเช่นที่ปฏิบัติมาโดยตลอด โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง กฎบัตรของพุทธบริษัท จากสำนักโมกขพลารามไชยา จัดพิมพ์เนื่องในวันวิสาขบูชา 2525 นั้น นายปรีดี จะพกในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ชีวิตมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจวาจาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทุกชีวิตหาได้หลีกหนีกฎอนิจจังไปได้ไม่

เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส นายปรีดีสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน


ท่านก้าวสู่ความตายอันไม่ตาย
เสรีภาพผ่อนคลายจักฉายฉ่ำ
ส่องแผ่นดินกันดารอันมืดดำ
ประวัติศาสตร์จะจดจำเป็นตำนาน

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ประชาสิทธิ
จงจิตรจรดจิตสืบผะสาน
จงเจตน์สืบเจตนาการ
คารวะท่านปรีดี พนมยงค์
[19]

ราว ๆ เที่ยงของวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2526 ณ บริเวณสุสาน Père Lachaise สถานที่สำหรับ ฝังศพบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น Chopin, Molière, Hugo, Delacroix ฯลฯ ได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพรัฐบุรุษอาวุโสของไทยอย่างสมเกียรติและเรียบง่ายตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์

ชาวไทยในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และจากหลายที่ อีกทั้งมิตรต่างประเทศจำนวนหลายร้อยคน ได้อำลาเป็นครั้งสุดท้ายผู้ให้กำเนิดระบอบประชาธิปไตยของไทย ด้วยความเคารพและอาลัยรัก

วิญญาณที่ผูกพันอย่างแนบแน่นกับประเทศชาติและราษฎรอันเป็นที่รัก ได้ละสังขารไปตามกฎธรรมชาติ แต่กงล้อประวัติศาสตร์หมุนไปข้างหน้าเช่นทุกเมื่อเชื่อวัน ดังที่นายปรีดีกล่าวไว้

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่านและชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย [20]

เชิงอรรถ

  1. ^ Pridi Banomyong, Ma vie mouvementee et mes 21 ans d ‘ éxil en Chine Populaire
  2. ^ จากหนังสือเล่มเดียวกัน
  3. ^ จากหนังสือเล่มเดียวกัน
  4. ^ ศุขปรีดา พนมยงค์, ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513 (หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534)
  5. ^ ปรีดี พนมยงค์, ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย (8 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
  6. ^ ศุขปรีดา พนมยงค์, ชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513 (หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534)
  7. ^ สุพจน์ ด่านตระกูล, การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของรัฐบุรุษอาวุโส (2516)
  8. ^ ปรีดี พนมยงค์, ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย (8 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
  9. ^ ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม (10 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
  10. ^ วาณี สายประดิษฐ์, จดหมายถึงคุณพ่อ (หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534)
  11. ^ ปรีดี พนมยงค์, ปาฐกถาสามัคคีสมาคม เมือง Doncester ประเทศอังกฤษ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516
  12. ^ เริง รังษี, มองอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในสายตาของนักเรียนไทยในฝรั่งเศส (จากนิตยสาร วงการ มิถุนายน 2526)
  13. ^ ปรีดี พนมยงค์, สาส์นถึงรองนายกรัฐมนตรี”(15 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
  14. ^ ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย (24 มิถุนายน พ.ศ. 2515)
  15. ^ ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม (10 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
  16. ^ จากบทความเรื่องเดียวกัน
  17. ^ ปรีดี พนมยงค์, สังคมปรัชญาเบื้องต้น (2 สิงหาคม พ.ศ. 2518)
  18. ^ ปรีดี พนมยงค์, คำแถลงของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องขอให้พี่น้องชาวไทยผู้รักชาติและชาวต่างประเทศอย่าหลงเชื่อบุคคลที่ใช้เล่ห์กลเพื่อทำให้ผู้เข้าใจผิดว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นพวกของต่างประเทศฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (พฤศจิกายน พ.ศ. 2523)
  19. ^ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, วิญญาณท่านปรีดี พนมยงค์ (3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526)
  20. ^ ปรีดี พนมยงค์, ปาฐกถาสามัคคีสมาคม เมือง Doncester ประเทศอังกฤษ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516